This is an outdated version published on 2020-10-01. Read the most recent version.

การวิจัยเชิงปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วมเพื่อหารูปแบบการป้องกันการตั้งครรภ์ในนักเรียนมัธยมศึกษา โรงเรียนจันทรุเบกษาอนุสรณ์ ตำบลเกษตรวิสัย อำเภอเกษตรวิสัย จังหวัดร้อยเอ็ด

ผู้แต่ง

  • เพียรศรี นามไพร โรงพยาบาลเกษตรวิสัย

คำสำคัญ:

การมีส่วนร่วม, รูปแบบการป้องกันการตั้งครรภ์

บทคัดย่อ

วัตถุประสงค์ : เพื่อหารูปแบบการป้องกันการตั้งครรภ์ ในนักเรียนชั้นมัธยมศึกษา โรงเรียนจันทรุเบกษาอนุสรณ์                        ตำบลเกษตรวิสัย อำเภอเกษตรวิสัย จังหวัดร้อยเอ็ด

รูปแบบการวิจัย : การศึกษาเชิงปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วม

วัสดุและวิธีดำเนินการวิจัย : ประชากร ได้แก่ นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1-6 ทั้งชายและหญิง โรงเรียนจันทรุเบกษาอนุสรณ์ ตำบลเกษตรวิสัย  อำเภอเกษตรวิสัย  จังหวัดร้อยเอ็ด จำนวน  2,500 คน  คำนวณขนาดตัวอย่างใช้สูตรของ Taro Yamane ได้จำนวน 345 คน ใช้วิธีการเลือกกลุ่มตัวอย่างแบบแบ่งชั้น และผู้มีบทบาทที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินงานด้านการป้องกันการตั้งครรภ์ในนักเรียน จำนวน 34 คน โดยใช้วิธีเลือกแบบเจาะจง  เครื่องมือที่ใช้ในการรวบรวมข้อมูลเป็นแบบสอบถามและแบบสัมภาษณ์กึ่งโครงสร้าง ที่ผ่านการตรวจสอบความตรงของเนื้อหารวมทั้ง ความถูกต้อง และเหมาะสมของภาษาที่ใช้ โดยผู้ทรงคุณวุฒิ จำนวน 3 ท่าน ทำการปรับ แก้ไขความถูกต้องและตรวจสอบความสมบูรณ์ของเนื้อหาอีกครั้งหนึ่ง ก่อนนำไปทดสอบหา  ความเชื่อมั่น ของเครื่องมือกับกลุ่มตัวอย่างที่มีลักษณะคล้ายคลึงกับกลุ่มตัวอย่างที่ทำการศึกษา จำนวน 30 ตัวอย่าง จากนั้นนำข้อมูลที่ได้มาวิเคราะห์หาค่าความเชื่อมั่น โดยใช้ค่าสัมประสิทธิ์แอลฟ่าของครอนบราค (cronbach’s alpha coefficient) ได้ค่าความเชื่อมั่น 0.84 ทำการเก็บข้อมูลระหว่างเดือนมีนาคมถึงพฤษภาคม พ.ศ. 2562 วิเคราะห์ข้อมูล โดยการแจกแจงความถี่  ค่าร้อยละ  ค่าเฉลี่ย และส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน

ผลการวิจัย : กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ เป็นเพศหญิง ร้อยละ 54.20 อายุ 15 ปี ร้อยละ 21.74  การศึกษาอยู่ในระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 ร้อยละ 21.76  สถานภาพสมรสของบิดาและมารดาอยู่ด้วยกัน ร้อยละ 93.91  ปัจจุบันอาศัยอยู่กับบิดาและมารดา ร้อยละ 87.25 ค่าใช้จ่ายเฉลี่ยต่อเดือนเพียงพอ ร้อยละ 85.22  เดินทางมาโรงเรียนโดยบิดาและมารดามาส่ง ร้อยละ 42.03 อาชีพหลักของบิดาคืออาชีพเกษตรกรรม ร้อยละ 64.06 อาชีพหลักของมารดาคืออาชีพหลักเกษตรกรรม ร้อยละ 56.52 และช่องทางการรับความรู้เรื่องการป้องกันการตั้งครรภ์ทางอินเตอร์เน็ตร้อยละ 73.62  กลุ่มตัวอย่างมีความรู้เกี่ยวกับการป้องกันการตั้งครรภ์ อยู่ในระดับปานกลาง ร้อยละ 62.03 รองลงมามีความรู้อยู่ในระดับสูง ร้อยละ 23.77 และมีความรู้อยู่ในระดับต่ำ  ร้อยละ 14.20

กลุ่มตัวอย่างตอบถูกมากที่สุด 3 อันดับแรกคือ การคุมกำเนิดแบบใดที่สะดวกและปลอดภัยมากที่สุด ตอบถูก ร้อยละ 82.03  การคุมกำเนิดชนิดใดสามารถป้องกันการตั้งครรภ์และป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ได้ ตอบถูกร้อยละ 80.58 และข้อใดเป็นวิธีป้องกันการตั้งครรภ์ที่เหมาะสมสำหรับวัยรุ่น ตอบถูกร้อยละ79.71 กลุ่มตัวอย่างมีเจตคติในการป้องกันการตั้งครรภ์ อยู่ในระดับปานกลาง ร้อยละ 57.10 รองลงมา อยู่ในระดับดี ร้อยละ 26.67 และอยู่ในระดับไม่ดี  ร้อยละ 16.23  กลุ่มตัวอย่างมีเจตคติที่ถูกต้อง มากที่สุด 3 อันดับแรกคือ การป้องกันการตั้งครรภ์ที่ดีที่สุด คือการหลีกเลี่ยงการมีเพศสัมพันธ์ ร้อยละ 75.07 หากต้องการคำแนะนำในการป้องกันการตั้งครรภ์ที่ถูกวิธีและเหมาะสมควรปรึกษาแพทย์ หรือ เจ้าหน้าที่สาธารณสุข ร้อยละ 71.01 และการมีเพศสัมพันธ์โดยไม่มีการป้องกันเพียงครั้งเดียว อาจทำให้เกิดการตั้งครรภ์ได้ ร้อยละ 68.41 ปัจจัยที่มีความสัมพันธ์กับการตั้งครรภ์ในนักเรียนชั้นมัธยมศึกษา มีดังนี้ 1) ที่พักอาศัยระหว่างการเรียนหนังสือ 2) การดื่มสุรา 3) การคบเพื่อน 4) สื่อมวลชน 5) ความรู้เกี่ยวกับเรื่องเพศ 6) เจตคติเกี่ยวกับเรื่องเพศ

สรุปและข้อเสนอแนะ : รูปแบบการป้องกันการตั้งครรภ์ ในนักเรียนชั้นมัธยมศึกษา โรงเรียนจันทรุเบกษาอนุสรณ์   ตำบลเกษตรวิสัย อำเภอเกษตรวิสัย จังหวัดร้อยเอ็ด พบว่า การป้องกันและแก้ไขปัญหาการมีเพศสัมพันธ์และการตั้งครรภ์ก่อนวัยอันควรในนักเรียน ต้องอาศัยความร่วมมือ การมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน ได้แก่ ครอบครัว โรงเรียน และชุมชน ในการดำเนินกิจกรรม ดังนี้ 1) ในสถานศึกษา ควรมีการดำเนินการ ดังนี้ 1.1) สร้างเสริมความรู้ และปรับเปลี่ยนเจตคติที่ดี ด้านเพศศึกษาตั้งแต่ระดับประถมศึกษา โดยการให้ความสำคัญต่อจัดการเรียน การสอนด้านเพศศึกษาเพิ่มขึ้น และจัดกิจกรรมร่วมกันระหว่าง ผู้ปกครอง สถานศึกษา และชุมชนเพื่อสร้างความเข้าใจ และทำให้เกิดแรงสนับสนุนในชุมชนเพื่อป้องกันการตั้งครรภ์ในนักเรียน 1.2) เสริมสร้างสัมพันธ์ที่ดีระหว่างนักเรียนกับนักเรียน เพื่อเสริมสร้างความสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน การสร้างความรู้สึกเห็นอกเห็นใจ การเข้าใจ ความสามัคคี สร้างความรู้สึกเสมือนเป็นญาติ พี่น้องกัน  การฝึกทักษะให้เด็กรู้จักจัดการปัญหาและควบคุมอารมณ์ตนเองในเรื่องเพศ 1.3) เสริมสร้างความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างครูกับเด็กนักเรียน การเสริมสร้างการสื่อสารแบบ 2 ทาง ระหว่างครูกับเด็ก และครูควรมีทักษะในการประเมินสภาวะเด็ก ประเมินความต้องการของเด็ก มีความรู้และทักษะในการแทรกแซงพฤติกรรมที่เป็นปัญหาทางเพศของเด็ก ทักษะในการให้ความช่วยเหลือเบื้องต้น และจัดการแก้ไขปัญหาเรื่องเพศแก่เด็กได้ 1.4) สถานศึกษา เปิดให้นักเรียนเข้าออกเป็นเวลา เปิดประตูโรงเรียน 2 ช่วงเวลา คือ ช่วงเช้าตอนเข้าเรียน และช่วงเย็นตอนเลิกเรียน และไม่ให้เด็กออกนอกบริเวณโรงเรียนในช่วงระหว่างทำการเรียนการสอน 1.5) สร้างเสริมความรู้ และปรับเปลี่ยนเจตคติที่ดี ในการใช้สื่ออินเตอร์เน็ตอย่างสร้างสรรค์ด้านเพศศึกษาในนักเรียน 2) ในครอบครัว ควรมีการดำเนินการ ดังนี้ 2.1) ส่งเสริมสนับสนุนให้ผู้ปกครองมีความรู้ ความเข้าใจและมีเจตคติที่ดี ในเรื่องเพศ และสามารถสื่อสารกับลูกเรื่องเพศ พร้อมทั้งสร้างสัมพันธภาพและการสื่อสารในครอบครัว 2.2) ผู้ปกครอง เฝ้าระวังพฤติกรรมเสี่ยงการมีเพศสัมพันธ์ของบุตรหลาน อย่างใกล้ชิด สม่ำเสมอ 2.3) ผู้ปกครอง สร้างกิจกรรมการเรียนรู้ คู่คุณธรรมในครอบครัวผ่านกิจกิจกรรมการทำบุญตักบาตรตอนเช้า การเข้าร่วมกิจกรรมตามประเพณี การเข้าวัดฟังธรรม การใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์ เช่น การปลูกต้นไม้  การออกกำลังกาย 2.4) ส่งเสริมสนับสนุนให้ผู้ปกครองนำบุตรหลานที่พักในหอพักหรือบ้านเช่า ให้กลับมาพักอาศัยอยู่กับตนเองหรือเครือญาติในช่วงเวลาระหว่างทำการศึกษาเล่าเรียน 3) ในชุมชน ควรมีการดำเนินการ ดังนี้

3.1) เฝ้าระวังกลุ่มพฤติกรรมเสี่ยงการมีเพศสัมพันธ์ในชุมชน โดยเฉพาะในกลุ่มวัยรุ่นที่จับกลุ่มมั่วสุมดื่มสุราในชุมชน   3.2) เฝ้าระวังร้านค้าในชุมชน ในเรื่องการไม่จำหน่ายสุราให้แก่เด็กต่ำกว่า 20 ปี การไม่แบ่งขายสุรา และการไม่ตั้งแสดงสุราอย่างเปิดเผย เพื่อป้องกันความเสี่ยงในการเสพสุราและการมีเพศสัมพันธ์ขณะมึนเมา 3.3) ผู้นำชุมชน ประชาสัมพันธ์เสริมสร้างความรู้ สร้างความตระหนักในการป้องกันการตั้งครรภ์ในนักเรียน ให้ประชาชนในชุมชนได้รับทราบ ผ่านหอกระจายข่าวชุมชนทุกสัปดาห์ เพื่อเป็นการเน้นย้ำความสำคัญของปัญหาที่จะเกิดขึ้นถ้าหากเกิดการตั้งครรภ์ที่ไม่พร้อมในนักเรียน  ข้อเสนอแนะในการวิจัยครั้งนี้ คือ 1) โรงเรียน ครอบครัว และชุมชน ควรมีการประสานความร่วมมือกัน เพื่อดูแลเด็กนักเรียนอย่างใกล้ชิด สม่ำเสมอ โรงเรียนควรมีการจัดจัดกิจกรรมสร้างสัมพันธภาพที่ดีระหว่างครู นักเรียนและผู้ปกครอง เพื่อป้องกันพฤติกรรมเสี่ยงทางเพศและปัญหาการตั้งครรภ์ในนักเรียน 2) โรงเรียน ควรมีการจัดกิจกรรมรณรงค์สัปดาห์ละ     1 ครั้ง ในเรื่องการป้องกันพฤติกรรมเสี่ยงทางเพศและการป้องกันการตั้งครรภ์ ส่งเสริมให้นักเรียนได้มีความรู้ที่ถูกต้องในเรื่องปัญหาทางเพศ สร้างเสริมให้รู้จักคิดและปฏิบัติตน เพื่อการปฏิบัติตัวที่ถูกต้อง เหมาะสม เกี่ยวกับเรื่องเพศสัมพันธ์

ข้อเสนอแนะในการวิจัยครั้งต่อไป คือ 1) ควรมีการศึกษารูปแบบการป้องกันการตั้งครรภ์ในนักเรียนมัธยมศึกษา โรงเรียน  จันทรุเบกษาอนุสรณ์ ตำบลเกษตรวิสัย อำเภอเกษตรวิสัย จังหวัดร้อยเอ็ด ในนักเรียนทุกคน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของข้อมูลในการสร้างรูปแบบการป้องกันการตั้งครรภ์ในนักเรียนให้เหมาะสมยิ่งขึ้น 2) ควรมีการศึกษารูปแบบการป้องกันการตั้งครรภ์ ในนักเรียนระดับประถมศึกษา เพื่อวางแนวทาง/รูปแบบการป้องกันการตั้งครรภ์ในนักเรียน ให้สอดคล้องสัมพันธ์กันในทุกระดับการศึกษา

References

1. สุรศักดิ์ ฐานีพานิชสกุล, วิทยา ถิฐาพันธ์ และคณะ,บรรณาธิการ.(2555) ; 143-149. การตั้งครรภ์ที่ไม่ต้องการ;วิกฤติเวชปฏิบัติปริกำเนิด. กรุงเทพฯ :บริษัท พี.เอ.ลีฟวิ่ง จำกัด
2. อรพินธ์ เจริญผล, บรรณาธิการ. (2555) ; 157-162. การตั้งครรภ์ที่ไม่ต้องการ; วิกฤติเวชปฏิบัติปริกำเนิด. กรุงเทพฯ:บริษัท พี.เอ.ลีฟวิ่ง จำกัด
3. ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร, (2555). สำนักงานปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์. สภาวะการมีบุตรของวัยรุ่นไทย พ.ศ. 2554. กรุงเทพฯ : สำนักงานปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์.
4. วัลยา ธรรมพนิชวัฒน์. เพศศึกษาสำหรับวัยรุ่นไทย. วารสารสภาการพยาบาล. 25(4) : ต.ค.-ธ.ค.2553; 5-9.
5. สร้อย อนุสรณ์ธีรกุล, สุรนาท ขมะณะรงค์. ปัจจัยทำนายการใช้บริการอนามัยการเจริญพันธุ์ของวัยรุ่นที่ไม่ได้วางแผนการตั้งครรภ์. วารสารคณะพยาบาลศาสตร์. 31(1) : เม.ย. 2551; 133-38.
6. เบญจพร ปัญญายง. (2553). การทบทวนองค์ความรู้ : การตั้งครรภ์ในวัยรุ่น. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ :กรมสุขภาพจิตกระทรวงสาธารณสุข.
7. สุมาลัย นิธิสมบัติ. (2553). การตั้งครรภ์ของมารดาวัยรุ่น[วิทยานิพนธ์ปริญญามหาบัณฑิต]. [เชียงใหม่] :มหาวิทยาลัยเชียงใหม่.
8. สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดร้อยเอ็ด. (2562).รายงานผลการดำเนินงานประจำปี.[ร้อยเอ็ด]: กลุ่มงาน.
9. สำนักงานสาธารณสุขอำเภอเกษตรวิสัย. (2562).รายงานผลการดำเนินงานประจำปี.[ร้อยเอ็ด]: กลุ่มงาน.
10. โรงเรียนจันทรุเบกษาอนุสรณ์. (2562). รายงานสถิตินักเรียนตั้งครรภ์ในโรงเรียน.
11. นิธิพงศ์ ศรีเบญจมาศและคณะ. (2558). พฤติกรรมและปัจจัยที่ส่งผลต่อพฤติกรรมการป้องกันการตั้งครรภ์ ไม่พึงประสงค์ของนักเรียนหญิงชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายในเขตอำเภอเมือง จังหวัดพิษณุโลก. คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยราชภัฏพิบูลสงคราม.
12. วิลาวรรณ ชิณวงศ์. (2554). ความรู้และเจตคติเกี่ยวกับการป้องกันการตั้งครรภ์ของนักเรียนมัธยมศึกษาโรงเรียนไผ่งามพิทยาคม ตำบลไผ่ อำเภอราศีไศล จังหวัดศรีสะเกษ [วิทยานิพนธ์ ส.บ.]. [มหาสารคาม] : มหาวิทยาลัยมหาสารคาม.

Downloads

เผยแพร่แล้ว

2020-10-01

Versions