การสอบสวนการระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ชนิด A(H1N1)ในชุมชนหมู่ที่ 6 และหมู่ที่ 13 ตำบลนานวล อำเภอพนมไพร จังหวัดร้อยเอ็ด

ผู้แต่ง

  • สันติ ธรณี

คำสำคัญ:

ไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ชนิด A (H1N1)

บทคัดย่อ

          โรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ชนิด A (H1N1)เป็นโรคติดต่ออุบัติใหม่ที่เกิดจากเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ที่มีการกลายพันธุ์และตรวจพบครั้งแรกในคนในประเทศสหรัฐอเมริกา เมื่อเดือนเมษายน พ.ศ.2552 ดังนั้นลักษณะอาการและอาการแสดงเฉพาะโรครวมถึงความรุนแรงจึงยังไม่ชัดเจนเชื้อไวรัสนี้อยู่ในเสมหะ น้ำมูก น้ำลาย ติดต่อได้โดยตรงจากการถูกผู้ป่วยไอ จาม รดหรือรับเชื้อทางอ้อมผ่านทางมือหรือสิ่งของเครื่องใช้ที่ปนเปื้อนเชื้อ ระยะฟักตัวของเชื้อประมาณ 1-3 วันและผู้ป่วยสามารถแพร่เชื้อได้ตั้งแต่ 1 วันก่อนปรากฎอาการจนถึงวันที่ 7 หลังวันเริ่มป่วย ผู้ป่วยจะมีอาการปวดศีรษะ ปวดกล้ามเนื้อ ไข้สูง ร่วมกับไอ เจ็บคอ มีเสมหะ น้ำมูกไหลบางครั้งอาจจะมีอาเจียนและท้องร่วงร่วมด้วย การรักษาส่วนใหญ่รักษาตามอาการ แต่มีผู้ป่วยบางกลุ่มโดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยงสูง เช่น ผู้สูงอายุ ทารก มีโรคประจำตัวหรือภูมิคุ้มกันโรคต่ำที่อาจมีอาการรุนแรงซึ่งต้องได้รับยาต้านไวรัส และอาจมีโอกาสเสียชีวิตได้ 

           เมื่อวันที่ 5 เดือนเมษายน พ.ศ. 2561 ฝ่ายระบาดวิทยาสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดร้อยเอ็ด ได้รับรายงานจากโรงพยาบาลพนมไพร จังหวัดร้อยเอ็ด ว่ามีผู้ป่วยที่มีอาการป่วยด้วยระบบทางเดินหายใจ อาการคล้ายโรคไข้หวัดใหญ่ เข้ารับการรักษาที่ โรงพยาบาลพนมไพร และโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลนานวล อำเภอพนมไพร ระหว่างวันที่ 25 เดือนมีนาคม พ.ศ.2561 ถึงวันที่ 4 เดือน เมษายน พ.ศ.2561 จำนวน 17 ราย ซึ่งผู้ป่วยทุกราย อาศัยอยู่ในชุมชนหมู่ที่ 6 และ13 ตำบลนานวล อำเภอพนมไพร จังหวัดร้อยเอ็ด เจ้าหน้าที่ได้สอบสวนและควบคุมการระบาดของโรค ระหว่างวันที่ 6-20 เดือนเมษายน พ.ศ.2561

           จากการสอบสวนพบผู้ที่มีอาการเข้าได้กับนิยามผู้ป่วยสงสัยไข้หวัดใหญ่ที่มีอาการอย่างน้อย2อย่างต่อไปนี้คือไข้ 38 องศาเซลเซียส(หรือให้ประวัติว่ามีไข้ ไอ เจ็บคอ น้ำมูก) ทั้งหมด 98 ราย อัตราป่วยร้อยละ 27.53 และมีผลการตรวจยืนยันพบสารพันธุกรรมของเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ชนิด A (H1N1) จำนวน 6 ราย อัตราป่วยร้อยละ 1.67 และผู้ป่วยเสียชีวิต 1 ราย อัตราป่วยตายร้อยละ 1 ลักษณะอาการและอาการแสดงทุกรายให้ประวัติว่ามีไข้  รองลงมาคือ ไอ จำแนกเป็นเพศหญิงต่อเพศชาย 1.28:1 กลุ่มอายุที่พบผู้ป่วยสูงสุดคือ 55-64 ปี ร้อยละ 30.61 ผู้ป่วยอายุต่ำสุด 2 ปี สูงสุด 83 ปี มัธยฐานอายุ 56 ปี ผู้ป่วยที่มีอาชีพเกษตรกรป่วยมากที่สุด ร้อยละ 63.27 ปัจจัยเสี่ยงของการป่วยและการระบาดของโรค คือ ประวัติการสัมผัสผู้มีอาการป่วยมาก่อน มีความเสี่ยงมากกว่าผู้ไม่สัมผัสถึง 32.27 เท่า (95% CI = 10.46, 99.60) และการนอนร่วมกับผู้มีอาการป่วย มีความเสี่ยงมากกว่าผู้ไม่มีประวัติ 2.45 เท่า (95%  CI = 1.05, 5.74)

            ดังนั้นการระบาดในครั้งนี้สรุปได้ว่าเกิดจากเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ชนิด A (H1N1) เนื่องจากมีผลตรวจยืนยันทางห้องปฏิบัติการและพบผู้ป่วยในพื้นที่เพื่อป้องกันการระบาดต่อไปได้มีการแนะนำให้แยกผู้ที่มีอาการป่วยที่มีอาการติดเชื้อทางเดินหายใจ  ใช้มาตรการ “ปิด ล้าง เลี่ยง หยุด” และหลีกเลี่ยงการนอนร่วมห้องกับผู้มีอาการป่วย รวมถึงการคัดแยกผู้มีอาการสงสัยในกรณีที่ต้องมีการร่วมงานในชุมชน เน้นกิจกรรมการล้างมือ

References

1.สำนักโรคติดต่ออุบัติใหม่ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข. โรคไข้หวัดใหญ่ (Seasonal Influenza). เข้าถึงเมื่อ 20 พฤษภาคม 2561. เข้าถึงได้จาก: http://beid.ddc.moph.go.th/beid_2014/th/diseases/253
2.สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ. คู่มือบริหารกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ปีงบประมาณ 2561. กรุงเทพมหานคร. แสงจันทร์การพิมพ์; 2561.
3.สำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค. มาตรฐานและแนวทางปฏิบัติงานทีมเฝ้าระวังสอบสวนเคลื่อนที่เร็ว ( SRRT) ฉบับปรับปรุงใหม่ 2555. กรุงเทพมหานคร. โรงพิมพ์ชุมนุมสหกรณ์การเกษตรแห่งประเทศไทย; 2555.
4.ภาวพันธ์ ภัทรโกศล, ประเสริฐ เอื้อวรากุล, บรรณาธิการ. ไข้หวัดใหญ่ ไข้หวัดนก .พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพมหานคร: สมาคมไวรัสวิทยา (ประเทศไทย); 2551.
5.David Schlossberg.clinical infectious disease.Cambridge University Press (2008) 2015.
6.คำนวณ อึ้งชูศักดิ์, ปฐม สวรรค์ปัญญาเลิศ, วิทยา สวัสดิวุฒิพงศ์, ชุลีพร จิระพงษา. พื้นฐานระบาดวิทยา. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพมหานคร. โรงพิมพ์แคนนา กราฟฟิค; 2559.
7.มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช. สาขาวิทยาศาสตร์สุขภาพ. วิทยาการระบาดประยุกต์กับการพัฒนาสุขภาพและสิ่งแวดล้อม. นนทบุรี: มหาวิทยาลัย; 2553.
8.ไพบูลย์ โล่ห์สุนทร. ระบาดวิทยา. พิมพ์ครั้งที่ 10.กรุงเทพมหานคร: โรงพิมพ์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย; 2556.
9.กัญญาภัค ศิลารักษ์ และคณะ. การสอบสวนการระบาดโรคไข้หวัดใหญ่ชนิด A/H1N1 2009 ในทหารใหม่กองร้อยอาวุธเบา ค่ายทหารแห่งหนึ่ง จังหวัดยโสธร เดือนพฤษภาคม 2560. รายงานการเฝ้าระวังทางระบาดวิทยาประจำสัปดาห์. 2561; 48(52): 817-24.
10.ภุชงค์ ไชยชิน, ปิยะกาญจน์ สุทธิ. การสอบสวนโรคไข้หวัดใหญ่ชนิด A สายพันธุ์ H3N2 ในโรงเรียนประถมศึกษาแห่งหนึ่ง อำเภอประโคนชัย จังหวัดบุรีรัมย์ ระหว่างวันที่ 10 กรกฎาคม – 10 กันยายน 2558. รายงานการเฝ้าระวังทางระบาดวิทยาประจำสัปดาห์.2559; 47(ฉบับพิเศษ): S1-8.

Downloads

เผยแพร่แล้ว

2020-02-28