ความชุกและปัจจัยเสี่ยงที่สัมพันธ์กับการติดเชื้อ Human papillomavirus ของสตรีในพื้นที่จังหวัดนนทบุรี

Main Article Content

อารยา เอี่ยมกุลเจริญศรี

บทคัดย่อ

บทนำ: มะเร็งปากมดลูกเป็นมะเร็งที่พบบ่อยในผู้หญิง ซึ่งส่วนใหญ่เกิดจากเชื้อ Human papillomavirus (HPV) โดยความชุกของการติดเชื้อ HPV ที่ผ่านมามีผลแตกต่างกันไปในแต่ละการศึกษา และปัจจัยเสี่ยงยังไม่มีข้อสรุปที่ชัดเจน นอกจากนี้ยังไม่มีการศึกษาหาความชุกและปัจจัยเสี่ยงของการติดเชื้อ HPV ในจังหวัดพื้นที่นนทบุรีมาก่อน การศึกษานี้จึงมีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาความชุกและปัจจัยเสี่ยงที่มีความสัมพันธ์กับการติดเชื้อ HPV ของสตรีในพื้นที่จังหวัดนนทบุรี


วิธีการศึกษา: การวิจัยเชิงวิเคราะห์แบบย้อนหลัง โดยใช้ข้อมูลจากฐานของระบบ HPV Screening ของสถาบันมะเร็งแห่งชาติ (NCI) โดยมีเกณฑ์คัดเข้า คือ สตรีไทยที่มีอายุระหว่าง 15-60 ปี ที่เข้ารับการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกด้วยวิธี HPV DNA test ในพื้นที่จังหวัดนนทบุรี ระหว่างเดือน พฤศจิกายน 2564 ถึงเดือนสิงหาคม 2566 จำนวน 12,118 ราย และเกณฑ์คัดออก คือ ผู้ที่ไม่มีผลแสดงการติดเชื้อเป็นบวกหรือลบ หรือมีข้อมูลในระบบไม่เพียงพอต่อเก็บหรือวิเคราะห์ข้อมูล การเก็บข้อมูลดำเนินการเก็บข้อมูลฐานข้อมูล NCI ได้แก่ ข้อมูลทั่วไป ผลการตรวจ HPV DNA test และผลการตรวจด้วยวิธี liquid based cytology (LBC) โดยทำการวิเคราะห์ข้อมูลด้วยสถิติเชิงพรรณนา ได้แก่ ความถี่ ร้อยละ ค่าเฉลี่ย และใช้สถิติ logistic regression


ผลการศึกษา: ความชุกของการติดเชื้อ HPV ของสตรีในพื้นที่นนทบุรี คิดเป็นร้อยละ 7.93 และการติดเชื้อ HPV Type non 16, 18 ร้อยละ 5.72 HPV Type 16 ร้อยละ 1.59 และ HPV Type 18 ร้อยละ 0.62 ตามลำดับ และมีปัจจัยเสี่ยงที่สัมพันธ์กับการติดเชื้อ HPV อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p<0.05) ได้แก่ อายุ  น้อยกว่า 30 ปี (adjusted Odd Ratio [adjOR]=3.01, 95% CI=1.59 - 5.70) อายุระหว่าง 30-45 ปี (adjOR=1.48, 95% CI=1.22 - 1.80) และประวัติการใช้ยาคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมน (adjOR=0.35, 95% CI=0.19 - 0.67) 


สรุปผล: การศึกษานี้แสดงให้เห็นถึงความชุกของการติดเชื้อ HPV ในจังหวัดนนทบุรี และปัจจัยเสี่ยงที่มีผลต่อการติดเชื้อ HPV ซึ่งสามารถใช้เป็นแนวทางในการคัดกรองผู้ป่วย อีกทั้งการส่งเสริมการตรวจคัดกรองการได้รับวัคซีนในสตรีอายุน้อย และการหลีกเลี่ยงการใช้ยาคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมน จะสามารถช่วยป้องกันความเสี่ยงของโรคมะเร็งปากมดลูกจากการติดเชื้อ HPV ในอนาคตได้

Article Details

บท
บทความวิจัย