ปัจจัยที่มีผลต่อความสำเร็จการรักษาผู้ป่วยวัณโรคปอด จังหวัดพะเยา

Main Article Content

อภิรุจี เกนทา
บุญลือ ฉิมบ้านไร่

บทคัดย่อ

บทนำ: วัณโรค (Tuberculosis: TB) เป็นโรคติดต่อร้ายแรงซึ่งมีสาเหตุเกิดจากการติดเชื้อ Mycobacterium Tuberculosis เป็นสาเหตุการป่วยและเสียชีวิตในหลายๆ ประเทศทั่วโลก มีช่องทางการติดต่อผ่านทางเดินหายใจจากผู้ป่วย เช่น การไอ จาม องค์การอนามัยโลก มีการคาดประมาณว่าในปี พ.ศ. 2563 อุบัติการณ์ผู้ป่วยวัณโรค ของโลกสูงถึง 9.9 ล้านคน (127 ต่อแสนประชากร) มีจำนวนผู้ป่วยวัณโรคเสียชีวิตสูงถึง 1.3 ล้านคน (ร้อยละ 13.13) ประเทศไทยมีอุบัติการณ์ผู้ป่วยวัณโรค 105,000 ราย (150 ต่อแสนประชากร) ผู้ป่วยวัณโรคเสียชีวิต 12,000 ราย (ร้อยละ 11.43) องค์การอนามัยโลกได้จัดให้ประเทศไทยอยู่ในกลุ่มประเทศที่มีภาระวัณโรคสูง จังหวัดพะเยามีผู้ป่วย 589 ราย (125 ต่อแสนประชากร) ผู้ป่วยวัณโรคเสียชีวิต 95 ราย (ร้อยละ 16.13) ซึ่งสูงกว่าในระดับโลกและประเทศไทย


วิธีการศึกษา: การวิจัยเชิงวิเคราะห์แบบย้อนหลัง (Retrospective cohort study) ในกลุ่มผู้ป่วยวัณโรค มีวัตถุประสงค์เพื่อ ศึกษาปัจจัยที่มีผลต่อความสำเร็จในการรักษาผู้ป่วยวัณโรค จำนวนทั้งสิ้น 925 ราย ในจังหวัดพะเยา ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2563 ถึงวันที่ 30 กันยายน 2565 จากสถานบริการสาธารณสุขทั้งภาครัฐและเอกชนที่มี TB Clinic 7 แห่ง วิเคราะห์หาปัจจัยที่มีผลต่อความสำเร็จในการรักษาวัณโรค ด้วยสถิติ Chi-square test และการวิเคราะห์การถดถอยโลจิสติก กำหนดค่าระดับการมีนัยสำคัญไว้ที่ p < 0.05


ผลการศึกษา: ปัจจัยที่มีความสัมพันธ์กับผลสำเร็จในการรักษาวัณโรคปอดอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ( p < 0.05) ได้แก่ อายุของผู้ป่วย สถานะการประกอบอาชีพการงาน ค่าดัชนีมวลกายของผู้ป่วย ภาวะการมีโรคร่วมในผู้ป่วยวัณโรค ได้แก่ การป่วยเป็นเบาหวาน การป่วยเป็นโรคไตเรื้อรัง และผลการตรวจเสมหะจากห้องปฏิบัติการ


สรุปผล: ผลจากการวิจัยนี้ สามารถนำไปใช้ในการพิจารณากำหนดแนวทางให้การดูแล กำกับติดตามผู้ป่วยอย่างใกล้ชิดในระบบการรักษาแบบมีพี่เลี้ยง เนื่องจากผู้ป่วยวัณโรคปอดที่มีปัจจัยเหล่านี้มีความสัมพันธ์ต่อความล้มเหลวในการรักษาหรือความสำเร็จในการรักษาวัณโรค

Article Details

บท
บทความวิจัย