ผลของโปรแกรมส่งเสริมพฤติกรรมการบริโภคอาหารในผู้ป่วยโรคเบาหวานที่ไม่สามารถควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด ตำบลกำแพงเพชร อำเภอรัตภูมิ จังหวัดสงขลา

Main Article Content

อาทิตยาณ์ จันทร์อ่อน
ศศินา สุวรรณบรรดิฐ
วาสนา สุระกำแหง
วิฑูรย์ สุทธิมาส

บทคัดย่อ

บทนำ: สาเหตุสำคัญที่ทำให้ผู้ป่วยเบาหวานไม่สามารถควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดได้ คือ พฤติกรรมการบริโภคอาหารที่ไม่เหมาะสม ไม่ว่าจะเป็นการรับประทานอาหารหวานจนเกินไป การรับประทานบ่อย หรือการรับประทานอาหารไม่เป็นเวลา


วิธีการศึกษา: การศึกษาครั้งนี้เป็นการศึกษาแบบกึ่งทดลอง (Quasi – experimental study)  มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาผลของโปรแกรมส่งเสริมพฤติกรรมการบริโภคอาหารในผู้ป่วยโรคเบาหวานที่ไม่สามารถควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดได้ในตำบลกำแพงเพชร อำเภอรัตภูมิ จังหวัดสงขลา กลุ่มตัวอย่าง ได้แก่ ผู้สูงอายุโรคเบาหวานที่ไม่สามารถควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดได้ในเขตอำเภอรัตภูมิ จังหวัดสงขลา จำนวน 71 คน เป็นกลุ่มทดลอง   34 คน กลุ่มควบคุม 37 คน เครื่องมือที่ใช้คือ แบบสัมภาษณ์ ประกอบด้วย ความรู้เกี่ยวกับโรคเบาหวาน ทัศนคติและพฤติกรรมการบริโภคอาหารของผู้ป่วยโรคเบาหวานที่ไม่สามารถควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดได้ กิจกรรมที่ใช้ ได้แก่ การให้ความรู้เกี่ยวกับโรคเบาหวาน การวางแผนมื้ออาหารโดยใช้ Food plates การแลกเปลี่ยนประสบการณ์เกี่ยวกับการรับประทานอาหาร และการวัดความหวานในอาหาร วิเคราะห์ข้อมูลสถิติเชิงพรรณนา และสถิติเชิงอนุมาน ได้แก่ Paired t-test, Independent t – test, Wilcoxon Sign Rank test, Mann – Whitney U test, McNemar test, Chi – squared test, Fisher exact probability test


ผลการศึกษา: ค่าระดับน้ำตาลในเลือดของผู้ป่วยโรคเบาหวานที่ไม่สามารถควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดได้ระหว่างกลุ่มทดลองและกลุ่มควบคุมแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p-value = 0.033) สำหรับความรู้เกี่ยวกับโรคเบาหวาน (p-value = 0.186) ทัศนคติ (p-value = 0.375) และพฤติกรรมการบริโภคอาหาร (p = 0.089) ระหว่างกลุ่มทดลอง และกลุ่มควบคุม ไม่แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ


สรุปผล: ค่าระดับน้ำตาลในเลือดของผู้ป่วยโรคเบาหวานที่ไม่สามารถควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดได้ระหว่าง    กลุ่มทดลอง และกลุ่มควบคุมแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ

Article Details

บท
บทความวิจัย