คุณภาพชีวิตการทำงานของบุคลากรสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดกระบี่

Main Article Content

จุไรรัตน์ อังสิริกุล

บทคัดย่อ

บทคัดย่อ


บทนำ: คุณภาพชีวิตการทํางานที่ดีของบุคลากร ทำให้การทำงานมีประสิทธิภาพและคุณภาพที่ดี  การวิจัยนี้จึงได้ศึกษาปัจจัยการบริหาร สิ่งแวดล้อม และคุณภาพชีวิตการทํางาน เปรียบเทียบปัจจัยบุคลากรกับคุณภาพชีวิตการทํางาน   ศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างปัจจัยการบริหาร   ปัจจัยสิ่งแวดล้อม กับคุณภาพชีวิตการทํางาน และข้อเสนอแนะการสร้างคุณภาพชีวิตการทํางาน


วิธีการศึกษา: การวิจัยนี้เป็นการวิจัยเชิงสำรวจ กลุ่มตัวอย่าง คือ บุคลากรสาธารณสุขที่ปฏิบัติงานในสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดกระบี่ 109 คน เก็บรวบรวมข้อมูลเดือนมิถุนายน ถึงกรกฎาคม พ.ศ. 2566 วิเคราะห์ข้อมูลด้วยสถิติเชิงพรรณนา t-test, ANOVA  และ Pearson,s product moment correlation       


ผลการศึกษา: สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดกระบี่มีปัจจัยการบริหาร และปัจจัยสิ่งแวดล้อมอยู่ในระดับสูง บุคลากรมีคุณภาพชีวิตการทำงานอยู่ในระดับสูง ทั้งนี้ รายได้ที่ต่างกัน ทำให้มีคุณภาพชีวิตการทํางานต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (P-value < 0.05) ปัจจัยการบริหารมีความสัมพันธ์เชิงบวกในระดับปานกลาง (r = 0.60) กับคุณภาพชีวิตการทํางาน โดยปัจจัยด้านการบริหาร และด้านลักษณะงาน มีความสัมพันธ์เชิงบวกในระดับปานกลาง (r =  0.66) และระดับต่ำ (r =  0.23) ปัจจัยสิ่งแวดล้อมมีความสัมพันธ์เชิงบวกในระดับสูง (r = 0.75) กับคุณภาพชีวิตการทํางาน โดยปัจจัยสิ่งแวดลอมด้านสถานที่ ด้านคน ด้านระบบการทำงาน  และด้านวัฒนธรรมองค์กรมีความสัมพันธ์เชิงบวก ในระดับปานกลาง (r = 0.52, 0.68, 0.69 และ 0.60) ตามลำดับ กับคุณภาพชีวิตการทํางาน  อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (P-value < 0.05) มีข้อเสนอแนะ คือ ให้ลดขั้นตอนในการทำงาน ส่งเสริมความก้าวหน้าในทุกสายงาน / ทุกระดับ พัฒนาศักยภาพบุคลากรเพิ่มมากขึ้น และให้เพิ่มที่จอดรถให้เพียงพอและมีหลังคา ร้อยละ 6.3, 6.3, 5.5 และ 4.8 ตามลำดับ


สรุปผล: จากผลวิจัยดังกล่าว ควรพัฒนาปัจจัยการบริหาร ปัจจัยสิ่งแวดล้อม และคุณภาพชีวิตของบุคลากรสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดกระบี่ ที่ยังอยู่ในเกณฑ์ปานกลางให้ดีขึ้น


คำสำคัญ : คุณภาพชีวิตการทำงาน  บุคลากรสาธารณสุข  สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด


 

Article Details

บท
บทความวิจัย