ปัจจัยที่มีความสัมพันธ์กับการเสียชีวิตผู้ป่วยโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ระลอกมกราคม 2565 จังหวัดนครศรีธรรมราช
Main Article Content
บทคัดย่อ
บทคัดย่อ
บทนำ: โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ส่งผลกระทบต่อระบบสุขภาพเนื่องจากเป็นโรคที่มีการเจ็บป่วยรุนแรงและส่งผลให้เกิดการเสียชีวิตตามมาได้ การศึกษาปัจจัยที่มีความสัมพันธ์กับการเสียชีวิตของผู้ป่วยจะช่วยให้สามารถนำความรู้มาใช้ในการวางนโยบายเพื่อเฝ้าระวังป้องกันความรุนแรงที่มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
วิธีการศึกษา: การวิจัยเชิงวิเคราะห์แบบย้อนหลัง (Retrospective Analytic Study) มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาสถานการณ์การเสียชีวิตและวิเคราะห์ปัจจัยที่มีความสัมพันธ์กับการเสียชีวิตผู้ป่วยโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 จังหวัดนครศรีธรรมราช ประชากรเป็นผู้ป่วยที่ได้รับการวินิจฉัยในช่วงการระบาดของโรคระหว่างเดือนมกราคม -เมษายน 2565 จำนวน 4,328 คน เป็นกลุ่มป่วยเสียชีวิต 83 คน และกลุ่มป่วยไม่เสียชีวิต 4,245 คน จากสถานพยาบาล 63 แห่งในจังหวัดนครศรีธรรมราช ใช้ข้อมูลจากระบบ CO-Ward ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข วิเคราะห์ข้อมูลทั่วไปด้วยสถิติเชิงพรรณนา (Descriptive Statistic) ได้แก่ ค่าความถี่ ร้อยละ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน หาความสัมพันธ์ของปัจจัยการเสียชีวิตด้วยสถิติ Chi-square การถดถอยโลจิสติก (Logistic Regression Analysis) นำเสนอความสัมพันธ์ด้วยค่าอัตราเสี่ยง (odds ratio: OR) และประเมินค่าช่วงความเชื่อมั่นที่ 95% Confidence Interval: CI
ผลการศึกษา: ปัจจัยที่สัมพันธ์กับการเสียชีวิตอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p< .05) ได้แก่ เพศชาย (OR 2.12, 95% CI= 1.339-3.290) อายุ≥ 60 ปี (OR 6.01, 95% CI= 3.587-10.064) มีโรคประจำตัว (OR 4.06, 95% CI= 1.866-8.827) ได้แก่ โรคความดันโลหิตสูง (OR 2.00, 95% CI= 1.294-3.090) ภาวะไขมันในเลือดสูง (OR 2.18, 95% CI= 1.328-3.573) โรคหลอดเลือดสมอง (OR 2.36, 95% CI= 1.202-4.628) วัณโรค (OR 5.45, 95% CI= 1.627-18.266) โรคถุงลมโป่งพอง (OR 11.50, 95% CI= 5.999-25.455) โรคภูมิคุ้มกันบกพร่อง (HIV) (OR 7.91, 95% CI= 2.704-23.139) โรคพาร์กินสัน (OR 104.79, 95% CI= 9.407- 1,167.315) ความสัมพันธ์ของการเสียชีวิตเพิ่มสูงขึ้นเมื่อมีโรคประจำตัว 2 โรค (OR 10.42, 95% CI= 4.471-24.270) และ 3 โรคขึ้นไปเป็น (OR 4.33, 95% CI= 1.877-9.984) นอกจากนี้สัมพันธ์กับการได้รับวัคซีนไม่ครบโด้ส (OR 4.15, 95% CI= 1.959-8.809) และการไม่ได้รับวัคซีน (OR 6.26, 95% CI= 3.922-9.983)
สรุปผล: การควบคุมปัจจัยเสี่ยงเพื่อป้องกันการเสียชีวิตควรเริ่มตั้งแต่ต้นน้ำคือ นโยบายมาตรการเร่งรัดการฉีดวัคซีน ศูนย์เฝ้าระวังค้นหากลุ่มเสี่ยงและคัดแยก/ การค้นหาเชิงรุก เพื่อมีการสร้างความตระหนัก กลางน้ำคือ ระบบบริการผู้ป่วยที่มีปัจจัยเสี่ยงได้รับการวินิจฉัยและรักษาตามแนวทางที่รวดเร็วโดยการมีส่วนร่วมของสหวิชาชีพที่เกี่ยวข้อง และปลายน้ำคือ การกำกับติดตามต่อเนื่อง ผลลัพธ์การดูแลที่มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
คำสำคัญ: ปัจจัยที่มีความสัมพันธ์กับการเสียชีวิต, โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019
ผู้นิพนธ์ประสานงาน: อรพรรณ คงศรีชาย; E-mail: kukmungmee@gmail.com
Article Details
This work is licensed under a Creative Commons Attribution-NonCommercial-NoDerivatives 4.0 International License.