ปัจจัยที่มีความสัมพันธ์กับพฤติกรรมการป้องกันโรคหลอดเลือดสมองของผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูง ศูนย์บริการสาธารณสุขบ้านกล้วยม่วง เทศบาลเมืองเขลางค์นคร จังหวัดลำปาง

Main Article Content

ศิริพันธ์ หอมแก่นจันทร์
ลภัสรดา หนุ่มคำ

บทคัดย่อ

บทคัดย่อ


บทนํา: อัตราตายด้วยโรคหลอดเลือดสมองของจังหวัดลำปางสูงเป็นอันดับ 2 ของประเทศ โดยพบอัตราตาย 81.26 ต่อแสนประชากรในปี พ.ศ.2563 อัตราป่วยสูงเป็นอันดับ 1 ของเขตบริการสุขภาพที่ 1 และสูงกว่าภาพรวมของประเทศไทย อำเภอเมืองพบอัตราป่วยด้วยโรคหลอดเลือดสมองมากที่สุดในปี พ.ศ. 2561 มีอัตราป่วยมากถึงร้อยละ 10.37 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาพฤติกรรมและปัจจัยที่มีความสัมพันธ์กับพฤติกรรมการป้องกันโรคหลอดเลือดสมอง


วิธีการศึกษา: การวิจัยเชิงวิเคราะห์แบบตัดขวาง กลุ่มตัวอย่าง คือ ผู้ป่วยความดันโลหิตสูง ศูนย์บริการสาธารณสุขบ้านกล้วยม่วง เทศบาลเมืองเขลางค์นคร จังหวัดลำปาง โดยวิธีการสุ่มแบบเป็นระบบ จำนวน 138 คน รวบรวมข้อมูลด้วยแบบสอบถามประกอบด้วย 5 ตอนคือ 1) ข้อมูลส่วนบุคคล 2) ปัจจัยนำ 3) ปัจจัยเอื้อ 4) ปัจจัยเสริม และ 5) พฤติกรรมการป้องกันโรคหลอดเลือดสมอง เก็บข้อมูลระหว่างเดือนตุลาคม-ธันวาคม 2565 วิเคราะห์ข้อมูลด้วยสถิติเชิงพรรนา ได้แก่จำนวน ร้อยละ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน และการวิเคราะห์ความสัมพันธ์ด้วยสหสัมพันธ์ของสเปียร์แมน


ผลการศึกษา: พฤติกรรมการป้องกันโรคหลอดเลือดสมองอยู่ในระดับปานกลางร้อยละ 80.4 (Mean=46.63 SD = 4.76) ปัจจัยที่มีความสัมพันธ์กับพฤติกรรมการป้องกันโรคหลอดเลือดสมองอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p<0.05) ได้แก่ 1) ปัจจัยนำ คือ ความรู้เรื่องโรคหลอดเลือดสมอง (r=0.186) ทัศนคติเกี่ยวกับการโรคหลอดเลือดสมอง (r=0.188) การรับรู้ความรุนแรงของโรคหลอดเลือดสมอง (r=-0.182) และการรับรู้ประโยชน์ของการปฏิบัติพฤติกรรมการป้องกันโรคหลอดเลือดสมอง (r=-0.256) 2) ปัจจัยเอื้อ คือ การเข้าถึงแหล่งบริการสาธารณสุข (r=0.345)  และ 3) ปัจจัยเสริม คือ การได้รับการสนับสนุนจากบุคคล และการได้รับข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับโรคหลอดเลือดสมอง (r=0.173)


สรุปผล: ความรู้ ทัศนคติ ความเชื่อด้านสุขภาพ การเข้าถึงแหล่งบริการสาธารณสุข และการได้รับข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับโรคหลอดเลือดสมองมีความสัมพันธ์กับพฤติกรรมการป้องกันโรคหลอดเลือดสมองของผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูง ดังนั้นผู้ดูแลผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูงควรได้รับคำแนะนำเพิ่มเติมเกี่ยวกับการสนับสนุนความรู้และทักษะเกี่ยวกับโรคหลอดเลือดสมอง และกลุ่มผู้ป่วยควรได้รับข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับโรคหลอดเลือดสมองหลากหลายช่องทาง โดยเฉพาะผ่านกระบวนการ 3 หมอ และการเสริมพลังอำนาจในการดูแลสุขภาพตนเองต่อไป

Article Details

บท
บทความวิจัย