การศึกษาการรับประทานปลาดิบในอาหารญี่ปุ่น(ซาชิมิ)และการป้องกันตนจากโรคพยาธิใบไม้ตับ
บทคัดย่อ
ปัจจุบันการรับประทานปลาดิบเป็นที่นิยมมากขึ้นในประเทศไทย เนื่องจากรสชาติที่อร่อย ความแปลกใหม่และคุณค่าทางอาหารญี่ปุ่น แต่อย่างไรก็ตามการรับประทานปลาดิบมีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อแบคทีเรียและพยาธิบางชนิด ดังนั้นงานวิจัยนี้จึงมีจุดประสงค์เพื่อศึกษาพฤติกรรมกลุ่มผู้ที่รับประทานปลาดิบ ทัศนคติในการรับประทานปลาดิบ และการป้องกันโรคที่มากับการรับประทานปลาดิบ ศึกษาในประชากรพื้นที่เทศบาลนครเมืองจังหวัดขอนแก่น และเทศบาลเมืองจังหวัดร้อยเอ็ด จำนวน 400 คน เครื่องมือที่ใช้ในการศึกษาได้แก่ แบบสัมภาษณ์ สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูลใช้สถิติเชิงพรรณนา ได้แก่ ร้อยละ และค่าเฉลี่ย±ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน กลุ่มตัวอย่างเป็นเพศหญิง ร้อยละ 59.75 เพศชายร้อยละ 40.25 มีช่วงอายุ 15-43 ปี ร้อยละ 77.5 การศึกษาระดับปริญญาตรี ร้อยละ 61 ประกอบอาชีพรับราชการ ร้อยละ 36.75 และอาศัยอยู่ในเขตเทศบาล ร้อยละ 68 จากการสำรวจพบว่า กลุ่มตัวอย่างไปรับประทานอาหารญี่ปุ่นในโอกาสต่าง ๆ เช่น งานสังสรรค์ ร้อยละ 80.25 ผลการวิเคราะห์ด้านความรู้ในการป้องกันโรคในการบริโภคปลาดิบญี่ปุ่นอยู่ในระดับปานกลาง ร้อยละ 63 (3.16±0.48) เมื่อพิจารณารายข้อพบว่ากลุ่มตัวอย่างเชื่อว่าอาหารประเภทปลาดิบที่มีคุณภาพสูงสามารถกินดิบได้โดยไม่ติดพยาธิแน่นอน ร้อยละ 51 แต่อย่างไรก็ตามกลุ่มตัวอย่างไม่ทราบว่าเมนูปลาดิบ อิสุมิได คือปลานิล ที่เป็นปลาน้ำจืด ร้อยละ 62ภาพรวมของกลุ่มตัวอย่างพบว่ามีทัศนคติที่ดีและพฤติกรรมที่ถูกต้องต่อการป้องกันโรคจากปลาดิบญี่ปุ่น ร้อยละ 56(2.79±1.2) และร้อยละ 45(2.25±1.0) ตามลำดับ เมื่อพิจารณารายข้อ เชื่อว่าปลาดิบญี่ปุ่นบำรุงร่างกายและเป็นอาหารสุขภาพ ร้อยละ 52 และรับประทานแล้วไม่อ้วนซึ่งดีต่อสุขภาพ ร้อยละ 44 นอกจากนี้ กลุ่มตัวอย่างเดียวกันนี้มีความรู้ในการป้องกันโรคพยาธิใบไม้ตับจากปลาดิบในอาหารไทยอยู่ในระดับสูง ร้อยละ 92 (4.58±0.25)เมื่อพิจารณารายข้อพบว่ากลุ่มตัวอย่างเห็นด้วยว่าการรับประทานลาบปลาตะเพียนดิบเสี่ยงต่อการติดเชื้อโรคพยาธิใบไม้ตับร้อยละ 98.5 ภาพรวมของทัศนคติที่ดีและพฤติกรรมการปฏิบัติที่ถูกต้องในการการป้องกันโรคพยาธิใบไม้ตับจากปลาดิบไทย ร้อยละ 52(2.12± 1.21) และ ร้อยละ46 (2.3±1.9) ตามลำดับ เมื่อพิจารณาข้อย่อยพบว่ากลุ่มตัวอย่างเห็นด้วยว่าสามารถติดโรคพยาธิใบไม้ในตับจากการรับประทานปลาน้ำจืดปรุงไม่สุก ร้อยละ 81.75 และไม่เห็นด้วยกับการรับประทานปลาส้มที่ปรุงใส่พริกมะนาวสามารถฆ่าพยาธิใบไม้ในตับได้ ร้อยละ 82แต่ยังมีกลุ่มตัวอย่างบางส่วนไม่เห็นด้วยว่าการกินส้มตำใส่ปลาร้าดิบมีโอกาสเป็นพยาธิใบไม้ในตับ ร้อยละ 30 ดังนั้นจึงสรุปได้ว่ากลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่มีความรู้และทัศนคติในการเลือกรับประทานปลาดิบญี่ปุ่นและมีความรู้เกี่ยวกับโรคที่มาจากปลาดิบน้ำจืด แต่บางส่วนที่มีพฤติกรรมในการรับประทานอาหารที่เสี่ยงต่อการติดพยาธิ เช่น ก้อย ลาบ ส้มตำปลาร้าดิบ ดังนั้นการให้ความรู้อย่างต่อเนื่องและลงในรายละเอียดของชนิดอาหารจากปลาน้ำจืดและน้ำเค็มยังมีความสำคัญในประเทศไทย เพื่อให้เกิดความเข้าใจและสามารถป้องกันโรคที่มาจากปลาดิบทั้งอาหารญี่ปุ่นและอาหารไทยได้อย่างมีประสิทธิภาพ
Downloads
เผยแพร่แล้ว
How to Cite
ฉบับ
บท
License
บทความนี้ลงตีพิมพ์ในวารสารศูนย์อนามัยที่ 7 ขอนแก่น ถือเป็นผลงานทางวิชาการหรือวิจัย ผลการวิเคราะห์ตลอดจนข้อเสนอแนะเป็นความเห็นส่วนตัวของผู้เขียน ไม่ใช่ความเห็นของวารสารศูนย์อนามัยที่ 7 ขอนแก่น หรือกองบรรณาธิการแต่อย่างใด ผู้เขียนต้องรับผิดชอบต่อบทความของตนเอง