ความสัมพันธ์ระหว่างคุณภาพชีวิตผู้เลี้ยงดูเด็กกับพัฒนาการเด็กปฐมวัย ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

ผู้แต่ง

  • สุพัตรา บุญเจียม ศูนย์อนามัยที่ 7 ขอนแก่น

บทคัดย่อ

การวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ ศึกษาสถานการณ์คุณภาพชีวิตของผู้เลี้ยงดูเด็กปฐมวัย พัฒนาการเด็กปฐมวัย ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยศึกษาปัจจัยด้านลักษณะทางสังคมประชากรของผู้เลี้ยงดู คุณภาพชีวิตของผู้เลี้ยงดู พัฒนาการเด็กปฐมวัย และศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างปัจจัยด้านลักษณะทางสังคมประชากรของผู้เลี้ยงดู คุณภาพชีวิตของผู้เลี้ยงดูกับพัฒนาการเด็กปฐมวัยด้วยการสัมภาษณ์ผู้เลี้ยงดู จำนวน 584 คน โดยใช้เครื่องมือแบบสัมภาษณ์คุณภาพชีวิตของผู้เลี้ยงดู และตรวจพัฒนาการเด็กปฐมวัยด้วยเครื่องมือ Denver II จำนวน 584 คน วิเคราะห์ข้อมูลด้วย การแจกแจงความถี่ ร้อยละ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน และสถิติการถดถอยโลจิสติกเชิงพหุ (Multiple Logistic Regression) ผลการวิจัยพบว่า ผู้เลี้ยงดูส่วนใหญ่เป็นเพศหญิง   ร้อยละ 93.3 อายุเฉลี่ย 40.4 ปี อายุน้อยที่สุด 16 ปี อายุมากที่สุด 74 ปี คุณภาพชีวิตของผู้เลี้ยงดูเด็ก ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ อยู่ในระดับดี ร้อยละ 77.7 เด็กปฐมวัยมีพัฒนาการสมวัย ร้อยละ 51.9 ปัจจัยที่มีความสัมพันธ์กับพัฒนาการเด็กปฐมวัย ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มี 4 ปัจจัยคือ 1) รายได้ตนเองของผู้เลี้ยงดู  (AOR = 1.7; 95%CI: 1.39 to 2.49; p-value 0.018) 2) การอาศัยอยู่กับบิดามารดาของเด็ก (AOR = 1.4; 95%CI: 1.21 to 1.96; p-value 0.047) 3) คุณภาพชีวิตด้านสุขภาพกาย (AOR = 1.2; 95%CI: 1.11 to 1.89; p-value 0.032) และ 4) คุณภาพชีวิตด้านสัมพันธภาพทางสังคม (AOR = 2.0; 95%CI: 1.63 to 2.73; p-value 0.011) ดังนั้นเพื่อส่งเสริมให้เด็กปฐมวัยมีพัฒนาการสมวัยต้องสร้างงานสร้างอาชีพในชุมชน สร้างรายได้แก่ผู้เลี้ยงดู เพื่อส่งเสริมให้ครอบครัวได้อยู่ร่วมกัน เด็กได้อยู่กับบิดามารดา และสร้างเสริมให้ผู้เลี้ยงดูมีคุณภาพชีวิตที่ดี

Downloads

เผยแพร่แล้ว

29-01-2021