การส่งเสริมกิจกรรมทางกายเด็กปฐมวัยในประเทศไทย: กรณีศึกษาใน 5 ภูมิภาค

ผู้แต่ง

  • วัชรินทร์ แสงสัมฤทธิ์ผล

บทคัดย่อ

การส่งเสริมกิจกรรมทางกายในเด็กปฐมวัยเป็นปัจจัยสำคัญต่อการพัฒนาศักยภาพสมอง ร่างกาย อารมณ์ และสังคมของเด็กปฐมวัย ซึ่งจะมีการพัฒนาอย่างมากในช่วง 6 ปีแรกของชีวิต อย่างไรก็ตาม การศึกษารูปแบบการส่งเสริมกิจกรรมทางกายในเด็กปฐมวัยในบริบทต่างๆ ของประเทศไทย ยังมีจำกัด การศึกษานี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษารูปแบบการส่งเสริมกิจกรรมทางกายเด็กปฐมวัยจากจังหวัดใน 5 ภูมิภาค โดยการสุ่มตัวอย่างแบบเจาะจงจากเครือข่ายการทำงานส่งเสริมกิจกรรมทางกายในเด็กปฐมวัยของกองกิจกรรมทางกายเพื่อสุขภาพ แบ่งพื้นที่การศึกษาออกเป็นสถานพัฒนาเด็กปฐมวัย และครัวเรือน ในเขตเมืองและเขตชนบท จำนวน 53 แห่ง เก็บข้อมูลด้วยการสังเกตการณ์ การสัมภาษณ์ และทบทวนเอกสารที่เกี่ยวข้อง ผลการศึกษา พบว่าสถานพัฒนาเด็กปฐมวัยทั้งเขตชนบท เมือง กรุงเทพฯ และปริมณฑล มีการจัดกิจกรรมการเรียนการสอน 4 รูปแบบหลักคล้ายคลึงกัน คือ 1) กิจกรรมตามหน่วยการเรียนรู้ 6 กิจกรรมหลัก 2) กิจกรรมทักษะชีวิต 3) กิจกรรมสร้างวินัย และ 4) กิจกรรมอื่นๆ โดยมีความหลากหลายและแตกต่างกันบ้างในตัวกิจกรรมและการจัดสภาพแวดล้อมตามบริบทพื้นที่ที่ต่างกัน ด้านสภาพแวดล้อม สถานพัฒนาเด็กปฐมวัยในเขตชนบทจะเน้นทำกิจกรรมในสนามหญ้า หรือนอกอาคารเรียนมากกว่าในเขตเมือง ในขณะที่สถานพัฒนาเด็กปฐมวัยในเขตเมือง     จะเน้นกิจกรรมในห้องเรียน การใช้สื่อการเรียนการสอนหรือของเล่นสำเร็จรูปมากกว่า ส่วนรูปแบบและสภาพแวดล้อมการส่งเสริมกิจกรรมทางกายเด็กปฐมวัยที่บ้าน พบว่า มีกิจกรรม 3 รูปแบบหลัก คือ 1) กิจกรรมการเล่น 2) กิจกรรมทักษะชีวิต และ 3) กิจกรรมการออกนอกบ้าน โดยการจัดสภาพแวดล้อมให้มีของเล่นที่หลากหลายในบ้าน และมีการใช้อุปกรณ์รวมทั้งสถานที่ต่างๆในชุมชนให้เกิดประโยชน์ ดังนั้นหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการส่งเสริมกิจกรรมทางกายในเด็กปฐมวัยจึงควรพัฒนานโยบายการส่งเสริมกิจกรรมทางกายในกลุ่มเด็กปฐมวัยด้วยการนำรูปแบบการส่งเสริมกิจกรรมทางกายจากการศึกษาไปปรับใช้กับบริบทพื้นที่เพื่อส่งเสริมกิจกรรมทางกายในเด็กปฐมวัยต่อไป

Downloads

เผยแพร่แล้ว

30-07-2020