ความชุกของภาวะโลหิตจางและผลการรักษาด้วยการให้ธาตุเหล็ก ทดแทนในเด็กอายุ 9 - 12 เดือน ในโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพ ศูนย์อนามัยที่ 7 ขอนแก่น

ผู้แต่ง

  • วศินี ติตะปัญ ศูนย์อนามัยที่ 7 ขอนแก่น

คำสำคัญ:

ภาวะโลหิตจาง การให้ธาตุเหล็กทดแทน

บทคัดย่อ

ภาวะโลหิตจางเป็นปัญหาทางกุมารเวชศาสตร์ที่พบได้บ่อยในเด็กและเป็นปัญหาสาธารณสุข
ที่สำคัญ การขาดธาตุเหล็กในทารกและเด็กวัยก่อนเข้าเรียนถือว่ามีความสำคัญเนื่องจากการขาด
ธาตุเหล็กเรื้อรังในเด็กวัยนี้ส่งผลต่อพัฒนาการ ระดับสติปัญญา และความสามารถในการเรียนรู้
ดังนั้นการตรวจคัดกรองภาวะโลหิตจางจากการขาดธาตุเหล็ก การให้การป้องกันในกลุ่มที่เสี่ยงต่อ
การเกิดภาวะโลหิตจางจากการขาดธาตุเหล็ก และการให้การรักษาตั้งแต่ระยะเริ่มแรกจึงมี
ความสำคัญต่อการเจริญเติบโตของร่างกายและการพัฒนาสมอง ผู้วิจัยจึงศึกษาเชิงวิเคราะห์จากเหตุ
ไปหาผลแบบย้อนหลังเพื่อหาความชุกของภาวะโลหิตจางในเด็กอายุ 9-12 เดือนและผลการรักษา
ด้วยการให้ธาตุเหล็กทดแทนเด็กอายุ 9-12 เดือนทั้งหมดที่มารับบริการที่คลินิกสุขภาพเด็กดีในโรงพยาบาลส่งเสริม
สุขภาพ ศูนย์อนามัยที่ 7 ขอนแก่น ตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2562 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2563
จะถูกคัดเข้าการศึกษา เก็บข้อมูลจากเวชระเบียนและโปรแกรม HosXP รายงานข้อมูลด้วยค่าร้อยละ
ค่าเฉลี่ยหรือ ค่ามัธยฐาน วิเคราะห์ปัจจัยที่มีความสัมพันธ์กับความสำเร็จของการรักษาด้วยธาตุเหล็ก
โดยใช้สถิติ Multiple logistic regression analysis รายงานค่าด้วย Adjusted Odds Ratio (aOR)
และ 95%CI กำหนดระดับนัยสำคัญทางสถิติที่ p-value < 0.05
ผลการศึกษาพบว่าเด็กอายุ 9-12 เดือนมารับการตรวจทั้งหมด 898 คนมีภาวะโลหิตจาง
ที่ระดับฮีโมโกลบิน (Hb) น้อยกว่า 11 g/dl จำนวน 360 คน ความชุก 40.1% (95%CI 36.9 – 43.3)
ในกลุ่มเด็กที่มีภาวะโลหิตจางมีค่า Hb เฉลี่ย 10.3 g/dl เป็นเพศชายร้อยละ 56.7 เป็นเพศหญิง
ร้อยละ 44.3 มีน้ำหนักปกติร้อยละ 86.1 น้ำหนักน้อยกว่ามาตรฐานร้อยละ 9.4% และมีน้ำหนัก
มากกว่ามาตรฐาน 4.4% กลุ่มที่มีภาวะโลหิตจางดื่มนมแม่อย่างเดียวร้อยละ 73.6 นมผสมอย่าง
เดียวร้อยละ 19.7 และดื่มทั้งนมแม่และนมผสมร้อยละ 6.7 เด็กทุกคนที่ตรวจพบภาวะโลหิตจางจะ
ได้รับการรักษาด้วยยาน้ำเสริมธาตุเหล็กในปริมาณ 4-6 มิลลิกรัม/กิโลกรัม/วัน เด็ก 138 คน ร้อยละ
38.3 ประสบความสำเร็จในการรักษาคือมีระดับ Hb เพิ่มขึ้น ≥ 1 g/dl ปัจจัยที่มีความสัมพันธ์กับ ความสำเร็จของการรักษาด้วยยาธาตุเหล็กอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ได้แก่ เพศชาย
(aOR 2.42, 95%CI 1.36-4.33, p-value=0.003), ระดับ Hb ครั้งแรก 9.5-10.5 g/dl (aOR
2.39, 95%CI 1.13-5.05, p-value = 0.022), ระดับ Hb ครั้งแรก < 9.5 g/dl (aOR 18.23,
95%CI 3.82-86.83, p-value < 0.001) และความร่วมมือในการรับประทานยา (aOR 7.79, 95%
CI 3.93-15.44, p-value < 0.001).
ความชุกของภาวะโลหิตจางยังคงพบได้สูงและสาเหตุที่สำคัญคือการขาดธาตุเหล็ก การรักษา
ภาวะโลหิตจางโดยการให้ยาน้ำเสริมธาตุเหล็กประสบผลส้ำเร็จเพียงไม่ถึงครึ่งหนึ่ง โดยเด็กเพศชาย
และระดับ Hb < 10.5 g/dl มีโอกาสสำเร็จมากกว่า เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการรักษาควรให้
ความสำคัญกับการร่วมมือในการรับประทานยาและรีบตรวจหาสาเหตุอื่น ๆ ในกลุ่มที่ไม่ตอบสนอง
ต่อการรักษา

Downloads

เผยแพร่แล้ว

17-08-2021