เจาะลึกปัญหา เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองในชุมชน Exploring Patient’s Problems to Improve Quality of Life after Stroke in Community
บทคัดย่อ
โรคหลอดเลือดสมอง (Cerebrovascular disease, Stroke) หรือโรคอัมพาต อัมพฤกษ์เป็นโรคเรื้อรังที่มีความรุนแรงมากขึ้นของทั่วโลกและประเทศไทย องค์การอัมพาตโลก (World Stroke Organization; WSO) รายงานว่าโรคหลอดเลือดสมองเป็นสาเหตุการตายอันดับที่ 2 ของประชากรที่มีอายุมากกว่า 60 ปี และเป็นสาเหตุการตายอันดับที่ 5 ของประชากรที่อายุ15-59 ปี1 ในแต่ละปีมีผู้ป่วยเป็นโรคหลอดเลือดสมองถึง 15 ล้านคน และ 5.8 ล้านคนต้องเสียชีวิตด้วยโรคนี้ ซึ่งคาดว่าจะมีจำนวนเพิ่มขึ้นเป็น 6.7 ล้านคน ในปี ค.ศ. 2015 หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งคือทุกๆ 6 วินาที จะมีผู้เสียชีวิตด้วยโรคหลอดเลือดสมอง2 ในประเทศไทยจากสถิติกระทรวงสาธารณสุข ปี พ.ศ. 2549 พบว่าโรคหลอดเลือดสมองเป็นสาเหตุการตายอันดับ 3 และมีแนวโน้มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยในปี พ.ศ. 2552 มีผู้เสียชีวิต 176,342 คน หรือ 3 คนในทุกๆ 2 ชั่วโมงและเชื่อว่าอัตราตายจะเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 17 ในปี พ.ศ. 2558 และอัตราป่วยของโรคนี้เพิ่มขึ้นมากกว่า 2 เท่า ระหว่างปี พ.ศ. 2544-2553 จาก 115.3 ต่อประชากรแสนคนเป็น 307.9 ต่อประชากรแสนคน3ซึ่งผู้ที่รอดชีวิตจากโรคหลอดเลือดสมองจำนวนมากต้องกลายเป็นผู้พิการ ไม่สามารถดำเนินชีวิตได้ตามปกติเช่นเดิม ต้องอยู่ในภาวะพึ่งพิงผู้อื่น ทั้งการดำรงชีวิตประจำวัน การฟื้นฟูสภาพร่างกาย การไปรับการรักษา ฯลฯ และการเจ็บป่วยยังส่งผลกระทบต่อเศรษฐานะและสังคมของคนในครอบครัว ที่ต้องสูญเสียค่าใช้จ่ายไปกับการแสวงหาการรักษาเพิ่มขึ้น ในขณะที่ผู้ป่วยเองไม่สามารถหารายได้เหมือนเช่นเดิม ภรรยาหรือลูกหลานต้องหยุดงานหรือลาออกจากงาน เพื่อมาดูแลผู้ป่วย เหตุปัจจัยทั้งหมดล้วนส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตของทั้งผู้ป่วยและครอบครัว
การนำเสนอบทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อสะท้อนสถานการณ์ของประเด็นปัญหาสุขภาพและผลกระทบที่เกิดขึ้นกับผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองและครอบครัว ผ่านการทบทวนวรรณกรรมและข้อมูลจากการสัมภาษณ์ผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองจำนวน 28 คนและผู้ดูแล 26 คน ในชุมชน เพื่อกระตุ้นให้พยาบาล โดยเฉพาะพยาบาลชุมชน และเจ้าหน้าที่ทางสาธารณสุขที่เกี่ยวข้องได้เรียนรู้ เข้าใจ และหาแนวทาง วิธีการในการจัดการปัญหา รวมถึงการพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยหลอดเลือดสมองในชุมชนอย่างจริงจังและเป็นรูปธรรม