ภาวะโปรแลกตินสูง : ภัยเงียบใกล้ตัวผู้ป่วยจิตเวช Hyperprolactinemia : Silent Adverse Effects in Psychiatric Patients

ผู้แต่ง

  • สุรดา จันดีกระยอม

บทคัดย่อ

บทนำ

โรคไม่ติดต่อเป็นปัญหาสาธารณสุขที่สำคัญของโลก และองค์การอนามัยโลกคาดการณ์ว่าอีก 6 ปีข้างหน้า คือในปี พ.ศ. 2565 จะมีผู้เสียชีวิตด้วยโรคไม่ติดต่อสูงถึงร้อยละ 731  และโรคทางจิตเวชก็ถือได้ว่าเป็นโรคไม่ติดต่อโรคหนึ่งที่สร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจและทางสาธารณสุขได้อย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งโรคจิตเภทซึ่งเป็นโรคทางจิตเวชที่พบได้บ่อยที่สุด โดยที่ผู้ป่วยทางจิตจะไม่สามารถควบคุมอารมณ์ ความคิด และพฤติกรรมของตนเองได้ 2,3

โรคทางจิตเวช ถือว่าเป็นโรคเรื้อรังที่ต้องใช้ระยะเวลาในการรักษายาวนาน4 เป็นโรคที่มีความผิดปกติที่ซับซ้อนเกิดจากหลายสาเหตุ ทั้งสาเหตุทางด้านชีววิทยา จิตสังคม และสิ่งแวดล้อม5 การรักษาต้องใช้แบบผสมผสาน ซึ่งประกอบด้วย การใช้ยา จิตบำบัด สังคมและสิ่งแวดล้อมบำบัด  ยาที่ใช้ในการรักษาได้แก่ ยาต้านโรคจิต (Antipsychotic drug) เพื่อลดอาการทางจิต ยาต้านโรคจิตที่ใช้กันอยู่มี 2 กลุ่มใหญ่ๆ คือ ยากลุ่มดั้งเดิม (Typical antipsychotic drugs) เช่น Chlorpromazine  Haloperidol และ Perphenazine เป็นต้น และยากลุ่มใหม่ (Atypical antipsychotic drugs) เช่น Risperidone Clozapine Quitiapine  และ Olanzapine  เป็นต้น

ถึงแม้ว่าในปัจจุบันได้มีการพัฒนารูปแบบยาและคิดค้นยาใหม่ๆ ให้มีประสิทธิภาพในการรักษาอาการทางจิตเพิ่มขึ้นและลดอาการไม่พึงประสงค์จากยาให้น้อยลง แต่การใช้ยานั้นก็ทำให้เกิดอาการไม่พึงประสงค์ต่างๆได้ค่อนข้างมาก3   ภาวะโปรแลกตินสูง (Hyperprolactinemia) เป็นหนึ่งในภาวะที่ไม่พึงประสงค์ที่เกิดขึ้นจากผลข้างคียงของการบำบัดรักษาด้วยยาทางจิตเวช ภาวะโปรแลกตินสูง เป็นภาวะที่ส่งผลต่อสุขภาพได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งปัญหาเกี่ยวกับด้านการเจริญพันธุ์ ปัญหาทางเพศหรือการไร้สมรรถภาพทางเพศ  นอกจากนี้ ยังส่งผลทำให้ความหนาแน่นของมวลกระดูกลดลง เสี่ยงต่อการเกิดกระดูกพรุนและกระดูกแตกหักได้ง่าย รวมไปถึงการมีภาวะเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งเต้านม และโรคหัวใจและหลอดเลือดได้4,6-9 ภาวะนี้ส่งผลให้เกิดความไร้สมรรถภาพในระยะยาวต่อตัวผู้ป่วยจิตเวชซึ่งถือเป็นภัยเงียบใกล้ตัวผู้ป่วยจิตเวชที่ควรได้รับการให้ความสนใจ  

จากหลักฐานเชิงประจักษ์ พบว่า ยาต้านโรคจิตกลุ่มดั้งเดิมทุกตัวและยาต้านโรคจิตกลุ่มใหม่บางตัวสามารถทำให้เกิดภาวะโปรแลกตินสูงได้เพราะยาทุกตัวไปยับยั้งการหลั่งโดปามีนในทุกช่องทาง 4,6-9 เพื่อลดอาการทางบวกของผู้ป่วย ในขณะที่ยาต้านโรคจิตกลุ่มใหม่เลือกจับกับโดปามีนและซีโรโตนินบางตัว จึงทำให้ยากลุ่มใหม่บางตัวไม่เกิดภาวะโปรแลกตินสูงหรือเกิดน้อย เช่น Clozapine Olanzapine Quetiapine Aripiprazole และ Ziprasidone ซึ่งรู้จักกันในกลุ่มของยาต้านโรคจิตที่ลดโปรแลกติน (Prolactin-sparing antipsychotics) ในขณะที่ยากลุ่มใหม่บางตัว เช่น Amisulpride  Paliperidone และ Risperidone ทำให้มีการหลั่งโปรแลกตินมากขึ้น เนื่องจากยาเหล่านี้เพิ่มการหลั่งโปรแลกติน (Prolactin-raising antipshycotics)4,6-18 ในผู้ป่วยทางจิตพบความชุกของภาวะโปรแลกตินมากกว่าคนปกติโดยทั่วไป โดยพบร้อยละ 70-75 ในผู้ป่วยโรคจิตเภท8,20 และเพศหญิงที่ได้รับยาริสเพอริโดนพบภาวะโปรแลกตินสูง สูงถึงร้อยละ 88 ในขณะที่ผู้หญิงที่ได้รับยาต้านโรคจิตกลุ่มเก่าพบร้อยละ 47.6 21 ประกอบกับในปัจจุบันนี้ รัฐบาลได้ตระหนักถึงเจตนารมณ์ของพระราชบัญญัติสุขภาพจิต พ.ศ. 2551 จึงได้สนับสนุนงบบริการสุขภาพผู้ป่วยจิตเวชในกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) โดยการเพิ่มสิทธิประโยชน์ให้ผู้ป่วยจิตเวช และได้บรรจุยาริสเพอริโดนในบัญชียาหลักแห่งชาติ เพื่อแก้ไขปัญหาการเข้าถึงยาของผู้ป่วยโรคจิตเภท ตั้งแต่ปีงบประมาณ 2554 เป็นต้นมา และปัจจุบันนี้องค์การเภสัชกรรมก็สามารถที่จะผลิตยาริสเพอริโดนได้เองเพื่อให้คนไทยเข้าถึงยาจิตเวชได้มากขึ้น จึงทำให้มีการใช้ยาริสเพอริโดนในการรักษาอาการทางจิตอย่างกว้างขวาง แพร่หลาย และเป็นที่นิยมในการใช้รักษาโรคจิต11

จากที่กล่าวมาข้างต้น จะเห็นได้ว่ายารักษาโรคจิตส่วนใหญ่มีแนวโน้มการเกิดภาวะโปรแลกตินสูง อันเป็นสาเหตุของการเกิดปัญหาด้านสุขภาพร่างกายในผู้ป่วยจิตเวชได้ค่อนข้างมากเช่นกัน ซึ่งภัยเงียบจากภาวะโปรแลกตินสูงนี้ ได้คุกคามสุขภาพของผู้ป่วยจิตเวชจำนวนมากและเป็นสาเหตุของปัญหาต่างๆที่กล่าวมา ตลอดจนเป็นภาระต่องบประมาณด้านการดูแลสุขภาพของผู้ป่วยจิตเวชที่เพิ่มมากขึ้นในอนาคต  อย่างไรก็ตาม จากผลกระทบดังกล่าว กลับพบว่า ที่ผ่านมา การให้ความใส่ใจและตระหนักเกี่ยวกับภาวะโปรแลกตินสูงในผู้ป่วยจิตเวชค่อนข้างน้อยและไม่ค่อยได้รับการติดตามอย่างใกล้ชิดและต่อเนื่อง4,6-8 บทความนี้ จึงมีวัตถุประสงค์เพื่อนำเสนอเกี่ยวกับภาวะโปรแลกตินสูง สาเหตุที่ทำให้เกิดภาวะโปรแลกตินสูง ยาต้านโรคจิตกับภาวะโปรแลกตินสูง ผลที่เกิดขึ้นจากภาวะโปรแลกตินสูง  และบทบาทพยาบาลในการดูแล กำกับ และติดตามภาวะโปรแลกตินสูงเพื่อส่งเสริมให้ผู้ป่วยและครอบครัวมีคุณภาพชีวิตที่ดีต่อไป

Downloads