บทบาทพยาบาลในการดูแลผู้สูงอายุที่มีภาวะสมองเสื่อม Role of Nurses in Caring for Older Persons with Dementia

ผู้แต่ง

  • อาทิตยา สุวรรณ์

คำสำคัญ:

ภาวะสมองเสื่อม ผู้สูงอายุ บทบาทพยาบาล

บทคัดย่อ

บทนำ

ในปัจจุบันประชากรผู้สูงอายุทั่วโลกมีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว จากการสำรวจจำนวนผู้สูงอายุที่มีอายุมากกว่า 60 ปีทั่วโลก พบว่าในปี พ.ศ. 2558 มีจำนวนผู้สูงอายุ 900 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 12 ของประชากรโลก และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นโดยคาดว่าในปี พ.ศ.2594 จะเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 22 ของประชากรโลก และ ร้อยละ 80 ของผู้สูงอายุส่วนใหญ่อยู่ในประเทศด้อยพัฒนาและประเทศกำลังพัฒนาสำหรับประเทศไทยซึ่งเป็นประเทศกำลังพัฒนา จากการคาดประมาณประชากรของประเทศไทย พ.ศ. 2553-2583 สัดส่วนผู้สูงอายุ ปี พ.ศ. 2553, 2563, 2573 และ พ.ศ.2583 คิดเป็นร้อยละ 11.9, 17.51, 25.12 และ 32.1 ตามลําดับ2   ซึ่งการเพิ่มจำนวนและสัดส่วนของผู้สูงอายุอย่างรวดเร็วย่อมส่งผลให้ภาวะเจ็บป่วยมากขึ้นตามไปด้วยเพราะผู้สูงอายุเป็นผู้ที่มีความเสี่ยงสูง เมื่ออายุมากขึ้นสุขภาพร่างกายอ่อนแอลง มีความเสื่อมของร่างกายมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาวะสมองเสื่อม ซึ่งเป็นปัญหาที่พบบ่อยและมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นอย่างรวดเร็วในประชากรผู้สูงอายุและพบมากขึ้นตามอายุ เนื่องจากผู้สูงอายุมีการเจ็บป่วยด้วยโรคเรื้อรังต่างๆ เช่น โรคหลอดเลือดหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง โรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน และภาวะอ้วน  โรคและภาวะต่างๆเหล่านี้เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดภาวะสมองเสื่อมในผู้สูงอายุ3  จากสถิติข้อมูลในปี พ.ศ. 2553 นักวิชาการคาดการณ์ว่ามีผู้สูงอายุทั่วโลกที่มีอายุมากกว่า 60 ปีเกิดภาวะสมองเสื่อม 35.6 ล้านคน และมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น ในปี พ.ศ. 2573 และ พ.ศ.2593 เป็นร้อยละ 65.7 และ 115.4 ล้านคน ตามลําดับ ซึ่งพบมากในประเทศที่ด้อยพัฒนาหรือกำลังพัฒนา ในประเทศไทยพบความชุกของภาวะสมองเสื่อมในประชากรที่อายุมากกว่า 55 ปีร้อยละ 1.8-2.04  ภาวะสมองเสื่อมเป็นโรคเรื้อรังที่ส่งผลกระทบทั้งทางด้านร่างกาย  จิตใจ พฤติกรรม สังคม เศรษฐกิจ รวมทั้งทำให้คุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุ ครอบครัวและผู้ดูแลลดลง3,5 ในปัจจุบันถึงแม้จะมีการรักษาภาวะสมองเสื่อม แต่การรักษาส่วนใหญ่ยังเป็นการรักษาแบบประคับประคองและได้ผลจำกัด ทั้งนี้อาจเนื่องมาจากพยาบาลและบุคลากรทางการแพทย์ พร่องความรู้ความเข้าใจในการคัดกรอง และการพัฒนาศักยภาพสมองเพื่อป้องกันและชะลอภาวะสมองเสื่อมของผู้สูงอายุ6  พยาบาลมีบทบาทสำคัญในการดูแลผู้สูงอายุและครอบครัวจึงจำเป็นต้องมีความรู้ ความเข้าใจเรื่องภาวะสมองเสื่อมและการดูแลรักษาเพื่อให้สามารถวางแผนการดูแล รวมทั้งให้การพยาบาลและสนับสนุนครอบครัวในการดูแลผู้สูงอายุสมองเสื่อม ให้ครอบคลุมทั้งทางด้าน ร่างกาย จิตใจ สังคม จิตวิญญาณ และสิ่งแวดล้อม ตลอดจนผู้ดูแล บทบาทของพยาบาลในการดูแลผู้สูงอายุที่มีภาวะสมองเสื่อม ประกอบด้วย 4 ระยะ คือ ระยะก่อนการวินิจฉัย ระยะวินิจฉัย ระยะที่ดำรงชีวิตอยู่กับภาวะสมองเสื่อม และระยะสุดท้ายของชีวิต7 ทั้งนี้เพื่อให้ผู้สูงอายุที่มีภาวะสมองเสื่อมและผู้ดูแลมีคุณภาพชีวิตที่ดีและส่งเสริมให้ผู้ดูแลมีความรู้และทักษะในการดูแลผู้สูงอายุที่มีภาวะสมองเสื่อม

Downloads