เปรียบเทียบพฤติกรรมส่งเสริมสุขภาพของผู้เป็น Metabolic Syndrome ที่มีผลลัพธ์ทางด้านสุขภาพดีและไม่ดี
คำสำคัญ:
พฤติกรรมส่งเสริมสุขภาพ Metabolic Syndrome ผลลัพธ์ทางด้านสุขภาพดีและไม่ดีบทคัดย่อ
การวิจัยเชิงบรรยายนี้มีเป้าหมายเพื่อศึกษาและเปรียบเทียบพฤติกรรมส่งเสริมสุขภาพของผู้เป็น Metabolic Syndrome หรือกลุ่มอาการอ้วนลงพุงระหว่างกลุ่มที่มีผลลัพธ์ทางด้านสุขภาพดีและไม่ดี กลุ่มตัวอย่างเป็นผู้เป็นที่รับการรักษาที่คลินิกโรคเบาหวานและความดันโลหิตสูงที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลหัวป่า ที่มีภาวะ Metabolic Syndrome จำนวน 49 คน ซึ่งได้รับการดูแลและให้ความรู้เพื่อปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเป็นระยะเวลา 1 ปี แบ่งเป็น กลุ่มที่มีผลลัพธ์ทางด้านสุขภาพดีจำนวน 12 คน และผลลัพธ์ทางด้านสุขภาพไม่ดีจำนวน 37 คน เก็บรวบรวมข้อมูล โดยใช้แบบสัมภาษณ์ข้อมูลส่วนบุคคล แบบสัมภาษณ์พฤติกรรมส่งเสริมสุขภาพที่สร้างขึ้นโดยผู้วิจัยตามกรอบแนวคิดของเพนเดอร์ วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้สถิติเชิงบรรยาย Independent t-test และ Mann-Whitney U test ผล
การวิจัยพบว่ากลุ่มผู้เป็น Metabolic Syndrome ที่มีผลลัพธ์ทางด้านสุขภาพดีและไม่ดี มีพฤติกรรมส่งเสริมสุขภาพโดยรวมอยู่ในระดับดี เมื่อเปรียบเทียบค่าคะแนนพฤติกรรมส่งเสริมสุขภาพโดยรวมระหว่างกลุ่มผู้เป็น Metabolic Syndrome ที่มีผลลัพธ์ทางด้านสุขภาพดีและไม่ดี ไม่แตกต่างกัน และเมื่อเปรียบเทียบเป็นรายด้านพบว่าพฤติกรรมด้านการออกกำลังกายของกลุ่มที่มีผลลัพธ์ทางด้านสุขภาพดีและไม่ดีแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ(p = .023)