การประยุกต์ใช้ทฤษฎีทางการพยาบาลครอบครัวในการดูแลคู่สมรสที่มีบุตรยาก

ผู้แต่ง

  • จารุวรรณ ก้าวหน้าไกล

บทคัดย่อ

การมีบุตรเป็นหน้าที่หนึ่งที่สำคัญของครอบครัว ครอบครัวมีหน้าที่ในการผลิตสมาชิกใหม่เพื่อการดำรงเผ่าพันธุ์ของมนุษย์ นอกจากนี้ยังทำให้ครอบครัวเกิดความสมดุลในการทำหน้าที่ของสมาชิกที่มีทั้งบิดามารดาและบุตร ก่อให้เกิดความสุขและความแข็งแกร่งของครอบครัว อีกทั้งทำให้ครอบครัวมีพัฒนาการครอบครัวเป็นไปตามปกติ1 ถ้าครอบครัวไม่มีบุตรหรือมีบุตรยากจะส่งผลต่อระบบครอบครัวและยังทำให้บทบาทของสามีภรรยาไม่เป็นไปตามความคาดหวังของสังคม ซึ่งผลกระทบจะย้อนกลับคืนมามีผลต่อความสัมพันธ์ในครอบครัวเป็นวงจรต่อไป  ภาวะการมีบุตรยากจึงเป็นปัญหาครอบครัวที่เป็นอุปสรรคต่อการทำหน้าที่ของครอบครัวและเป็นปัญหาทางด้านประชากรและอนามัยเจริญพันธุ์อย่างหนึ่งที่มีแนวโน้มมากขึ้นในปัจจุบัน ซึ่งเป็นปัญหาของทุกภูมิภาคทั่วโลก  ในประเทศที่พัฒนาแล้วอัตราการมีบุตรยากอยู่ระหว่างร้อยละ 7-17 เช่น  นอร์เวย์ร้อยละ 7   อเมริการ้อยละ 8.5  ฟินแลนด์ ร้อยละ 15   และอังกฤษร้อยละ 17   เป็นต้น2-5 สำหรับประเทศไทยปัญหาการมีบุตรยากของสตรีวัยเจริญพันธุ์อายุระหว่าง 15-49 ปี        พบร้อยละ 156 จากสถิติผู้รับบริการปัญหามีบุตรยากที่โรงพยาบาลศิริราช มีแนวโน้มสูงขึ้นจาก 4,000 ราย ในปี 2545 เพิ่มขึ้นเป็น 11,000 รายในปี 2552 เกือบ 3 เท่าในระยะ 7 ปี และมีแนวโน้มสูงขึ้นต่อไป7 แพทย์ทั่วโลกยังมีความเห็นที่สอดคล้องกันว่า อัตราการมีบุตรยากมีแนวโน้มสูงขึ้นควบคู่กับการใช้เทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ที่เพิ่มมากขึ้น  ดังนั้นภาวะการมีบุตรยาก จึงเป็นปัญหาที่ท้าทายสำหรับบุคลากรทางการแพทย์  บทความนี้มุ่งเสนอแนวคิดการประยุกต์ใช้ทฤษฎีทางการพยาบาลครอบครัวในการดูแลผู้มีบุตรยาก  เพื่อเป็นแนวทางแก่พยาบาลในการให้การดูแลและให้คำปรึกษาแก่คู่สมรสที่มีบุตรยากต่อไป

Downloads