บทบาทของพยาบาลในทีมสหสาขาวิชาชีพในการป้องกันการนอนโรงพยาบาลซ้ำของผู้ที่มีภาวะหัวใจล้มเหลว: ตามกรอบแนวคิดทฤษฎีการบรรลุจุดมุงหมายของคิง Nurse’s Roles in the Multidisciplinary Team to Prevent Rehospitalization of Persons with Heart Failure: Using King’s Goal
บทคัดย่อ
บทความวิชาการนี้จัดทำขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์เพื่ออธิบายความหมายของ “การทำงานแบบทีมสหสาขาวิชาชีพ” และอธิบายบทบาทของพยาบาลในฐานะสมาชิกในทีมสหสาขาวิชาชีพในการป้องกันการนอนโรงพยาบาลซ้ำของผู้ที่มีภาวะหัวใจล้มเหลวตามกรอบแนวคิดทฤษฎีการบรรลุจุดมุ่งหมายของคิง (Imogene King’s goal attainment theory)
ความเป็นมา
ภาวะหัวใจล้มเหลวเป็นกลุ่มอาการและอาการแสดงที่เกิดจากหัวใจไม่สามารถบีบตัวสูบฉีดเลือด ออกซิเจนและสารอาหารไปเลี้ยงอวัยวะที่อยู่ในส่วนต่างๆ ของร่างกายได้อย่างเพียงพอกับความต้องการ1-3 และถึงแม้ว่าปัจจุบันศักยภาพทางการแพทย์และสาธารณสุขในการป้องกันและรักษาภาวะหัวใจล้มเหลวนี้จะมีประสิทธิภาพสูงมากขึ้นก็ตาม แต่อัตราการเจ็บป่วยและอัตราการตายยังคงสูงขึ้นเรื่อยๆ 4-6 อีกทั้งภาวะหัวใจล้มเหลวยังทำให้เกิดพยาธิสภาพที่หัวใจอย่างรุนแรงจนไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ ผู้ที่มีภาวะนี้จึงมีข้อจำกัดทางร่างกายหลายประการ บางครั้งหากผู้รับบริการมีภาวะหัวใจล้มเหลวระดับรุนแรงมาก (NYHA Class VI) อาจส่งผลให้ผู้รับบริการต้องนอนพักบนเตียงเท่านั้น เนื่องจากมีอาการหายใจลำบากตลอดเวลาแม้ในขณะพักไม่มีกิจกรรมใดๆ ก็ตาม1,3 ด้วยความไม่พร้อมทางร่างกายทำให้ผู้ที่มีภาวะหัวใจล้มเหลวส่วนใหญ่ไม่สามารถประกอบอาชีพได้ตามปกติ ทำให้ขาดรายได้ และกลายเป็นภาระกับครอบครัวและสังคม7-8 และจากพยาธิสภาพทางร่างกายจึงส่งผลกระทบต่อภาวะจิตใจ ผู้ที่มีภาวะนี้มักประสบกับความกลัว ความวิตกกังวลต่างๆ จนส่งผลให้เกิดความเครียดและภาวะซึมเศร้าในที่สุด จนบางรายอาจรุนแรงถึงขั้นคิดทำร้ายตัวเอง9-10 มีรายงานว่าภาวะหัวใจล้มเหลวเป็นภาวะความเจ็บป่วยที่ทำให้คุณภาพชีวิตของผู้รับบริการลดลงอย่างมากมายเมื่อเทียบกับโรคเรื้อรังอื่นๆ11-12 และยังเป็นสาเหตุให้ผู้ที่มีภาวะนี้ต้องเข้ารับการนอนรักษาตัวในโรงพยาบาลซ้ำแล้วซ้ำอีก โดยเฉพาะในผู้สูงอายุ6,13-14 โดยพบว่าเมื่อเปรียบเทียบกับโรคเรื้อรังอื่นๆ ภาวะหัวใจล้มเหลวเป็นสาเหตุอันดับต้นๆ ที่ทำให้ผู้รับบริการต้องกลับเข้านอนรักษาตัวในโรงพยาบาลซ้ำภายหลังจำหน่ายจากโรงพยาบาลเพียง 30 วัน15 นอกจากนี้ผู้ที่มีภาวะหัวใจล้มเหลวเกือบครึ่งหนึ่งต้องเข้ารับการนอนรักษาตัวในโรงพยาบาลซ้ำภายใน 6 เดือน16 และยังทำให้แต่ละประเทศมีค่าใช้จ่ายจำนวนมหาศาลสำหรับภาวะหัวใจล้มเหลวนี้โดยเฉพาะ7-8 ด้วยเหตุดังกล่าวจึงทำให้ปัจจุบันภาวะหัวใจล้มเหลวกลายเป็นปัญหาสำคัญระดับโลก6,13 บุคลากรทางสาธารณสุขแต่ละสาขาวิชาชีพจึงได้มุ่งมั่นในการศึกษาปัจจัยต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง และพบว่าปัจจัยทางพฤติกรรมและทางสังคม เช่น การไม่ปฏิบัติตามแผนการรักษา และการแยกตัวออกจากสังคมล้วนแต่มีผลต่อการักษาพยาบาลทั้งสิ้น16-18 ทั้งนี้มีการค้นหาวิธีในการดูแลรักษาและป้องกันการเกิดภาวะแทรกซ้อนต่างๆ มาใช้ในการดูแลผู้ที่มีภาวะหัวใจล้มเหลว ซึ่งส่วนใหญ่ผู้ที่มีภาวะหัวใจล้มเหลวให้ความร่วมมือดี จึงทำให้ผลการศึกษาส่วนใหญ่บรรลุวัตถุประสงค์ แต่เมื่อพิจารณาในภาพรวมกลับพบว่าอัตราการเข้ารับการรักษาตัวซ้ำในโรงพยาบาลยังคงเพิ่มขึ้น4-6 จึงอาจเป็นไปได้ว่าการรักษาและการป้องกันภาวะแทรกซ้อนในผู้ที่มีภาวะหัวใจล้มเหลวมีความซับซ้อนอย่างมาก ไม่สามารถแก้ไขได้โดยคนใดคนหนึ่งเท่านั้น หากแต่จำเป็นต้องได้รับความร่วมมือจากผู้ที่มีภาวะหัวใจล้มเหลวและครอบครัว รวมทั้งต้องการความร่วมมือของบุคลากรทางสาธารณสุขทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องหรือที่ปัจจุบันรู้จักกันในนามของ “การทำงานแบบทีมสหสาขาวิชาชีพ” หรือ “multidisciplinary team” นั่นเอง