ผลของโปรแกรมการส่งเสริมการรับรู้สมรรถนะแห่งตนโดยกลุ่มเพื่อนต่อพฤติกรรมการบริโภคและการออกกำลังกายของวัยรุ่นตอนต้นที่มีภาวะโภชนาการเกิน
คำสำคัญ:
วัยรุ่นตอนต้นที่ภาวะโภชนาการเกิน พฤติกรรมการบริโภคอาหาร พฤติกรรมการออกกำลังกายบทคัดย่อ
การวิจัยนี้เป็นการวิจัยกึ่งทดลอง (Quasi Experimental Research)มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาผลของโปรแกรมการส่งเสริมการรับรู้สมรรถนะแห่งตนโดยกลุ่มเพื่อนต่อพฤติกรรมการบริโภคอาหารและการออกกำลังกายของวัยรุ่นตอนต้นที่มีภาวะโภชนาการเกิน โดยใช้ทฤษฎีการส่งเสริมการรับรู้สมรรถนะแห่งตนของ Bandura(1997) เป็นกรอบแนวคิดในการวิจัย กลุ่มตัวอย่างเป็นวัยรุ่นตอนต้นที่มีภาวะโภชนาการเกิน อายุระหว่าง 13-14 ปี ศึกษาในระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่1-3 โรงเรียนในเขตเทศบาลอำเภอวารินชำราบ จังหวัดอุบลราชธานี จำนวน 60 คน สุ่มอย่างง่ายเพื่อแบ่งเป็นกลุ่มทดลอง 30 คน และกลุ่มควบคุม 30 คน จับคู่เพศ และระดับภาวะโภชนาการของทั้งสองกลุ่มให้เหมือนกัน กลุ่มทดลองได้รับโปรแกรมการส่งเสริมการรับรู้สมรรถนะแห่งตนโดยกลุ่มเพื่อนประกอบด้วย 1) สภาวะทางด้านร่างกายและอารมณ์ 2) การมีประสบการณ์ที่ประสบผลสำเร็จ 3) การเรียนรู้ผ่านตัวแบบ 4)การจูงใจด้วยคำพูด กลุ่มควบคุมได้รับการบริการอนามัยโรงเรียนตามปกติ เครื่องมือที่ใช้ประกอบด้วย โปรแกรมการส่งเสริมการรับรู้สมรรถนะแห่งตนโดยกลุ่มเพื่อนที่สร้างตามแนวคิดการรับรู้สมรรถนะแห่งตนของแบนดูรา แบบสอบถามพฤติกรรมการบริโภคอาหารและแบบสอบถามพฤติกรรมการออกกำลังกาย แบบประเมินการรับรู้สมรรถนะแห่งตน เครื่องมือทั้งหมดผ่านการตรวจความตรงตามเนื้อหาโดยผู้ทรงคุณวุฒิ 5 คนและหาค่าความเที่ยงของแบบสอบถามแล้วได้ค่า ความเที่ยงของเครื่องมือเท่ากับ .73 และ .76 วิเคราะห์ข้อมูลหาค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน และการทดสอบที
ผลการวิจัย พบว่า หลังการทดลอง กลุ่มทดลองมีคะแนนเฉลี่ยพฤติกรรมการบริโภคและการออกกำลังกายของวัยรุ่นตอนต้นที่มีภาวะโภชนาการเกินสูงกว่าก่อนการทดลอง และสูงกว่ากลุ่มควบคุมอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p < .05)
ผลการวิจัยสรุปได้ว่า วัยรุ่นตอนต้นที่มีภาวะโภชนาการเกินที่ได้รับโปรแกรมการส่งเสริมการรับรู้สมรรถนะแห่งตนโดยกลุ่มเพื่อน มีพฤติกรรมการบริโภคและการออกกำลังกายที่เพิ่มขึ้น โปรแกรมนี้จึงเป็นทางเลือกหนึ่งสำหรับพยาบาลในการส่งเสริมสุขภาพวัยรุ่นที่มีภาวะโภชนาการเกิน