การพัฒนาระบบการจัดการเครือข่ายผู้ดูแลรายกรณีในผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูงและเบาหวาน จังหวัดยโสธร

ผู้แต่ง

  • ประชุมสุข โคตรพันธ์
  • อังศุมาลิน โคตรสมบัติ
  • สุพัตรา บัวที

คำสำคัญ:

การพัฒนาระบบ การจัดการเครือข่าย ผู้ดูแลรายกรณี

บทคัดย่อ

การวิจัยครั้งนี้เป็นการวิจัยเชิงปฏิบัติการ   มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาระบบการจัดการเครือข่ายผู้ดูแลรายกรณีในผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูงและเบาหวาน  จังหวัดยโสธร  ผู้ร่วมวิจัยประกอบด้วย 2 กลุ่ม  กลุ่มที่ 1 คือ ทีมสหสาขาวิชาชีพ และพยาบาลผู้ดูแลรายกรณีที่รับผิดชอบโรคความดันโลหิตสูงและเบาหวาน  คัดเลือกมาจากโรงพยาบาลชุมชนทั้งหมด             8 โรงพยาบาล ในจังหวัดยโสธรจำนวน   52   คน  กลุ่มที่ 2 คือ ผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูงและเบาหวาน  โรงพยาบาลละ 30 คน โดยใช้ผู้ร่วมวิจัยกลุ่มเดียว  จำนวนทั้งหมด  240 คน ดำเนินการวิจัยเริ่มตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2556 – มิถุนายน 2557 ใช้กรอบแนวคิดเชิงระบบของ Donabedian  Model ร่วมกับวงจรเชิงปฏิบัติการ P-A-O-R (Policy & Plan – Acting –Observing - Reflecting ) ของ Elliott & Kemmis เครื่องมือที่ใช้มี 2 ชนิด 1) เครื่องมือเก็บรวบรวมข้อมูลเชิงปริมาณคือแบบสอบถามผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูงและเบาหวานจำนวน  3 ชุด คือ 1.1) ข้อมูลทั่วไป 1.2) แบบประเมินความพึงพอใจ 1.3) แบบประเมินคุณภาพชีวิต  วิเคราะห์ข้อมูลโดยสถิติการแจกแจงความถี่  ร้อยละ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน  และสถิติทดสอบคือ pair  t – test  กำหนดนัยสำคัญทางสถิติที่แอลฟา P < 0.05  2) เครื่องมือเก็บรวบรวมข้อมูลเชิงคุณภาพ คือกิจกรรมการสนทนากลุ่ม วิเคราะห์ข้อมูลเชิงคุณภาพโดยใช้การวิเคราะห์เชิงเนื้อหา

ผลการศึกษาพบนโยบายและแผนของผู้บริหาร การตรวจเยี่ยมพื้นที่มีประโยชน์ต่อผู้ร่วมวิจัย  ทำให้เข้าใจในขั้นตอนเชิงระบบ สามารถประสานงานร่วมกันได้ดีขึ้น ใช้แผนการดูแลผู้ป่วยหรือแนวทางปฏิบัติได้ถูกต้องทางคลินิก ผู้ร่วมวิจัยมีพลังใจในการปฏิบัติงาน โรงพยาบาลชุมชนทั้งหมดได้รับการพัฒนาระบบการจัดการเครือข่ายผู้ดูแลรายกรณีที่ชัดเจนและเกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกันส่งผลทำให้การดูแลผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูงและเบาหวานมีคุณภาพ  พบร้อยละการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดและระดับความดันโลหิตที่ไม่ได้ตามเกณฑ์กำหนดลดลง  และอัตราการเกิดแผลที่เท้าลดลง  สำหรับการเกิดภาวะแทรกซ้อนทางหัวใจและไตอยู่ในอัตราเท่าเดิมหมายถึงสามารถชะลอการเสื่อมของระบบที่สำคัญในร่างกายให้ทำงานได้  และพบระดับคะแนนค่าเฉลี่ยแบบสอบถามความพึงพอใจและคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูงและเบาหวานหลังการพัฒนาระบบการจัดการเครือข่ายผู้ดูแลรายกรณีมีค่ามากกว่าก่อนการพัฒนาระบบการจัดการเครือข่ายผู้ดูแลรายกรณี คือ 4.462 (SD = 0.095 ), 3.383 (SD = 0.118 ) คะแนน ตามลำดับ และ 3.738 (SD = 0.432), 3.437 (SD = 0.410 ) คะแนน ตามลำดับ ได้ทดสอบผลของคะแนนค่าเฉลี่ยโดยใช้สถิติทดสอบคือ pair t – test  มีนัยสำคัญทางสถิติที่ P < 0.000   

Downloads