การจัดการเรียนรู้ตามแนวจิตตปัญญาศึกษาเพื่อสร้างเสริมสุขภาพผู้สูงอายุกลุ่มเสี่ยงเบาหวานในชุมชน
คำสำคัญ:
จิตตปัญญา, การจัดการเรียนรู้, การสร้างเสริมสุขภาพผู้สูงอายุบทคัดย่อ
การจัดการเรียนรู้เป็นสิ่งสำคัญในการสร้างเสริมสุขภาพที่ทีมผู้ให้บริการด้านสุขภาพพึงตระหนักในการสร้างสุขภาพเพื่อความยั่งยืน การวิจัยเชิงปฏิบัติการนี้เพื่อจัดการเรียนรู้และศึกษาผลการจัดการเรียนรู้ตามแนวจิตตปัญญาศึกษาเพื่อสร้างเสริมสุขภาพผู้สูงอายุกลุ่มเสี่ยงเบาหวานในชุมชน ผู้ร่วมวิจัย ประกอบด้วย ผู้สูงอายุกลุ่มเสี่ยงเบาหวาน 20 คน ผู้ให้บริการสุขภาพ 7 คน ผู้นำชุมชนและอาสาสมัครผู้สมัครใจดูแลผู้สูงอายุ 11 คน วิเคราะห์ข้อมูลเชิงปริมาณใช้สถิติเชิงพรรณนา Wilcoxon Signed Rank Test ข้อมูลเชิงคุณภาพใช้การวิเคราะห์เชิงเนื้อหา
ผลการวิจัย พบว่า สถานการณ์ก่อนการจัดการเรียนรู้ผู้สูงอายุกลุ่มเสี่ยงเบาหวานส่วนใหญ่มีโรคประจำตัว อ้วนระดับ 1 และมีค่า HbA1c อยู่ระหว่าง 5.7-6.4 ร้อยละ 66.2 พบพฤติกรรมการบริโภค การจัดการกับอารมณ์และการออกกำลังกายไม่เหมาะสม ผลการจัดการเรียนรู้ตามแนวจิตตปัญญาศึกษาทำให้ผู้สูงอายุเกิดความตะหนัก เกิดกลุ่มเรียนรู้ช่วยเหลือกันและตรวจสอบพฤติกรรม 3 อ ตามวิถีชีวิตในชุมชน จากการที่กล้าเปิดเผยตัวตน เกิดปฏิสัมพันธ์ต่อกัน มีความเมตตา มีความปรารถนาดีและมีจิตสาธารณะ พฤติกรรมการบริโภคอาหาร การจัดการกับอารมณ์และการออกกำลังกายมีความเหมาะสมเพิ่มขึ้น ค่า HbA1C ก่อนและหลังการเรียนรู้แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.05