การรับรู้ความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะแทรกซ้อนของผู้ป่วยเบาหวานแบบที่ 2
คำสำคัญ:
รับรู้ความเสี่ยง ภาวะแทรกซ้อน เบาหวานแบบที่ 2 Risk perception, T2DM, Diabetes complicationsบทคัดย่อ
ผู้ป่วยเบาหวานแบบที่ 2 ในประเทศไทยที่ควบคุมไม่ได้ มีอัตราการค่อนข้างสูง และการประเมินการรับรู้ความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะแทรกซ้อนมีน้อยมาก การวิจัยเชิงพรรณนาแบบภาคตัดขวางนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาการรับรู้เชิงเปรียบเทียบความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะแทรกซ้อนของผู้ป่วยเบาหวานแบบที่ 2 โดยกลุ่มตัวอย่างเป็นผู้ป่วยที่ไม่มีและมีภาวะแทรกซ้อน จำนวน 93 คน ตอบแบบสอบถามเกี่ยวกับการรับรู้ความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะแทรกซ้อนของโรคเบาหวานและผู้วิจัยรวบรวมข้อมูลโรคแทรกซ้อนและระดับน้ำตาลสะสม (A1C) จากเวชระเบียนร่วมด้วย กลุ่มตัวอย่างมีอายุเฉลี่ย 56 ปี ส่วนใหญ่เป็นผู้หญิง (89%) มีการศึกษาระดับประถมศึกษาปีที่ 4 (71%) เป็นเบาหวานมานานเฉลี่ย 7 ปี มีประวัติครอบครัวเป็นเบาหวาน (54%) ดัชนีมวลกายเฉลี่ย 26 kg/m2 มีน้ำหนักเกิน (57% ) รับการรักษาด้วยอินซูลิน (14% ) ผู้ป่วยจำนวน 79 คนที่มีผลการตรวจระดับน้ำตาลสะสมซึ่งมีค่าเฉลี่ย 8% ผู้ป่วยที่มีภาวะแทรกซ้อนอย่างน้อยหนึ่งอาการสำคัญ (70%) ได้แก่ ความดันโลหิตสูง (19%) โปรตีนในปัสสาวะ (10%) ไขมันในเลือดสูง (7%) ไตเสื่อม (3%) เส้นประสาทเสื่อม (2%) การมองเห็นผิดปกติ (1%) และ โรคหัวใจ (1%) ผู้ป่วยเบาหวานมีการรับรู้ความเสี่ยงโดยรวมอยู่ในระดับปานกลาง (66 จากช่วงคะแนน 26 - 104); การรับรู้ความเสี่ยงด้านสิ่งแวดล้อม (23 จากช่วงคะแนน 9 - 36) ความกังวล (4 จากช่วงคะแนน 2 - 8) การเกิดโรคของตนเอง (23 จากช่วงคะแนน 9 - 45) การควบคุมโรคของตนเอง (8 จากช่วงคะแนน 4-16) อยู่ในระดับค่อนข้างต่ำ ในขณะที่ความรู้เกี่ยวกับความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะแทรกซ้อนอยู่ในระดับปานกลาง (3 จากช่วงคะแนน 0 - 5) แต่การมีอคติเชิงบวกอยู่ในระดับปานกลางถึงสูง (6 จากช่วงคะแนน 2 - 8) จากการแบ่งกลุ่มตัวอย่างออกเป็นสองกลุ่ม คือ กลุ่มที่ไม่มีภาวะแทรกซ้อนและมีภาวะแทรกซ้อน พบว่า การรับรู้ความเสี่ยงมีความแตกต่างอย่างไม่มีนัยสำคัญทางสถิติ (Mann-Whitney U=868.5, p > .05) ส่วนความรู้เกี่ยวกับความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะแทรกซ้อนของกลุ่มที่ยังไม่มีโรคแทรกซ้อน (4.07 ± 1.0) สูงกว่ากลุ่มที่มีภาวะแทรกซ้อน (3.4 ± 1.3) อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (Mann-Whitney U = .665, p < .05) สรุปผลการศึกษา ผู้ป่วยเบาหวานแบบที่ 2 ส่วนใหญ่มีโรคแทรกซ้อน แต่มีความรู้และการรับรู้ความเสี่ยงต่อการเกิดโรคแทรกซ้อนอยู่ในระดับปานกลาง ดังนั้น บุคคลากรวิชาชีพด้านสุขภาพควรเน้นให้ผู้ป่วยเบาหวานแบบที่ 2 มีความเข้าใจในความเสี่ยงต่อการเกิดโรคแทรกซ้อนและส่งเสริมให้มีพฤติกรรมการจัดการเบาหวานด้วยตนเองเพิ่มมากขึ้น