ผลลัพธ์ของรูปแบบการดูแลสุขภาพต่อเนื่องแบบบูรณาการโดยใช้โปรแกรมสารสนเทศใน ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง เครือข่ายสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดยโสธร

ผู้แต่ง

  • อารีรัตน์ เนติวัชรเวช

คำสำคัญ:

การดูแลสุขภาพต่อเนื่อง, โปรแกรมสารสนเทศ, ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง

บทคัดย่อ

 

การดูแลต่อเนื่องมีความสำคัญในผู้ที่มีภาวะเจ็บป่วยเรื้อรัง เนื่องจากเป็นการเชื่อมต่อช่องว่างการดูแลสุขภาพของผู้ป่วยระหว่างโรงพยาบาลกับบ้าน การใช้โปรแกรมสารสนเทศช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการดูแล

                การศึกษาครั้งนี้เป็นแบบกึ่งทดลอง สองกลุ่มเปรียบเทียบก่อนและหลังการทดลอง วัตถุประสงค์เพื่อศึกษาผลลัพธ์ของรูปแบบการดูแลสุขภาพต่อเนื่องแบบบูรณาการโดยใช้โปรแกรมสารสนเทศในผู้ป่วยโรคเรื้อรัง เครือข่ายสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดยโสธร กลุ่มตัวอย่างคือ ผู้ป่วยโรคเรื้อรังแบ่งเป็นสองกลุ่มคือ กลุ่มก่อนใช้และกลุ่มที่ใช้รูปแบบการดูแลต่อเนื่องแบบบูรณาการโดยใช้โปรแกรมสารสนเทศ ซึ่งประกอบด้วย การพัฒนาศักยภาพทีมดูแลต่อเนื่อง การส่งต่อข้อมูลด้วยโปรแกรม COC  การให้บริการเชิงรุกเพื่อการประเมินและวางแผนการดูแลร่วมกันตามบริบทของผู้ป่วยแต่ละราย การนิเทศติดตาม ระยะเวลาในการเก็บรวบรวมข้อมูล 6 เดือน ประเมินผลโดยใช้แบบวัดความพึงพอใจของผู้ป่วยโรคเรื้อรังและทีมดูแลต่อเนื่อง มีค่าสัมประสิทธิ์อัลฟ่าของครอนบาค เท่ากับ .90 และ .93 ตามลำดับ และแบบประเมินผลลัพธ์การเยี่ยมบ้าน วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้สถิติเชิงพรรณนา ไคสแคว์ และทดสอบค่าทีที่เป็นอิสระต่อกัน

                 ผลการศึกษาพบว่า กลุ่มที่ใช้รูปแบบการดูแลสุขภาพต่อเนื่องแบบบูรณาการโดยใช้โปรแกรมสารสนเทศ มีอัตราความครอบคลุมการเยี่ยมบ้าน อัตราผู้ป่วยควบคุมภาวะโรคสามารถดูแลตนเองได้  อัตราผู้ป่วยส่งกลับจากโรงพยาบาลได้รับการเยี่ยมบ้านภายใน 14 วัน และอัตราข้อมูลผู้ป่วยระดับ 3 ส่งถึงหน่วยบริการปลายทางภายใน 5 วัน เพิ่มขึ้นกว่ากลุ่มก่อนใช้รูปแบบอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 ส่วนอัตราการเกิดภาวะแทรกซ้อนของผู้ป่วยที่บ้านพบว่าไม่แตกต่างกันแต่มีแนวโน้มลดลง นอกจากนี้ผู้ป่วยโรคเรื้อรังและทีมดูแลต่อเนื่องมีความพึงพอใจต่อใช้รูปแบบการดูแลสุขภาพต่อเนื่องแบบบูรณาการโดยใช้โปรแกรมสารสนเทศในระดับมาก ในด้านกระบวนการ/ขั้นตอนให้บริการ ด้านความครบถ้วนของข้อมูล การติดต่อสื่อสารและด้านคุณภาพของการให้บริการ

                สรุปและข้อเสนอแนะ รูปแบบการดูแลสุขภาพต่อเนื่องแบบบูรณาการโดยใช้โปรแกรมสารสนเทศช่วยเพิ่มคุณภาพในการดูแลผู้ป่วยโรคเรื้อรัง ควรมีการปรับรูปแบบเพื่อให้เหมาะสมกับบริบทของหน่วยงาน

Downloads

เผยแพร่แล้ว

2020-06-29