การพัฒนารูปแบบบริการพยาบาลผู้ป่วยมะเร็งศีรษะและลำคอที่ได้รับรังสีรักษาร่วมกับยาเคมีบำบัด Development of a Nursing Care Model for Patients with Head and Neck Cancer Receiving Chemo-radiotherapy

ผู้แต่ง

  • สุพิพัฒน์ พระยาลอ
  • เขษมพร มโนคุ้น
  • หนูเพียร ชาทองยศ
  • เพชราภรณ์ ประสารฉ่ำ

คำสำคัญ:

รูปแบบบริการพยาบาล ผู้ป่วยมะเร็งศีรษะและลำคอ รังสีรักษาร่วมกับเคมีบำบัด การจัดการโรคเรื้อรัง

บทคัดย่อ

การดูแลรักษาผู้ป่วยมะเร็งศีรษะและลำคอมีความซับซ้อน ผู้ป่วยต้องได้รับการดูแลรักษาอย่างมีคุณภาพจากบุคลากรทีมสุขภาพ ครอบครัวและชุมชน การวิจัยเชิงปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วมนี้ใช้กรอบแนวคิดของการจัดการโรคเรื้อรังมาพัฒนารูปแบบบริการพยาบาลและแนวปฏิบัติทางการพยาบาลผู้ป่วยมะเร็งศีรษะและลำคอที่ได้รับรังสีรักษาร่วมกับยาเคมีบำบัดให้มีประสิทธิภาพ ทำการศึกษาที่ศูนย์รังสีรักษาและเคมีบำบัด โรงพยาบาลขอนแก่น เลือกผู้ร่วมวิจัยแบบเฉพาะเจาะจงและสมัครใจเข้าร่วมวิจัย ประกอบด้วย ผู้ป่วยมะเร็งศีรษะและลำคอที่ได้รับรังสีรักษาร่วมกับยาเคมีบำบัดจำนวน 15 คน  ผู้ดูแล จำนวน 15  คน  บุคลากรทีมสุขภาพ จำนวน 27 คน  กระบวนการวิจัยเน้นการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ และสะท้อนคิดจนเกิดการตระหนักร่วมมี 2 วงรอบๆละ 4 ขั้นตอน ได้แก่ การประเมินสถานการณ์ การวางแผน การปฏิบัติตามแผน และการประเมินผลผ่านการสะท้อนการปฏิบัติ เก็บข้อมูลเชิงคุณภาพ โดยการสัมภาษณ์เชิงลึก การสนทนากลุ่ม การประชุมระดมสมอง เก็บข้อมูลเชิงปริมาณโดยใช้แบบประเมินภาวะเยื่อบุช่องปากอักเสบ แบบประเมินภาวะโภชนาการของผู้ป่วย การวิเคราะห์ข้อมูลเชิงปริมาณโดยแจกแจงความถี่ ร้อยละและส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน วิเคราะห์ข้อมูลเชิงคุณภาพโดยการวิเคราะห์เชิงเนื้อหาและการตรวจสอบสามเส้า

จากการประเมินสถานการณ์ พบว่า ผู้ป่วยพึ่งพาการดูแลจากบุคลากรทีมสุขภาพ ไม่สามารถจัดการสุขภาพตนเอง ขาดระบบการติดตามผู้ป่วยอย่างต่อเนื่องและไม่เชื่อมโยงกับชุมชน จึงได้มีการพัฒนารูปแบบบริการใหม่ ดังนี้ 1) พยาบาลผู้จัดการรายกรณีสนับสนุนให้ผู้ป่วยดูแลตนเองแบบเสริมพลังอำนาจ ให้ทีมสุขภาพ ผู้ป่วยและผู้ดูแลร่วมวางแผนส่งเสริมการจัดการตนเองของผู้ป่วย  2) บุคลากรทีมสุขภาพร่วมวางแผนการดูแลโดยใช้หลักฐานเชิงประจักษ์ แบ่งบทบาทและหน้าที่ให้ชัดเจน มีความเชื่อมโยงกัน มีช่องทางการประสานที่ชัดเจน 3) สร้างแนวปฏิบัติร่วมที่เพิ่มทักษะการจัดการตนเองของผู้ป่วย ด้านการประเมินและดูแลช่องปาก ส่งเสริมโภชนาการ 4) การสนับสนุนการตัดสินใจของผู้ป่วยและผู้ดูแล โดยให้ข้อมูล ความรู้ตามมาตรฐานการรักษา มีช่องทางสื่อสารตลอด 24 ชั่วโมงให้ผู้ป่วยติดต่อได้ทันที 5) การจัดระบบข้อมูลทางคลินิกของผู้ป่วยแนวทางการดูแลผู้ป่วยโดยเชื่อมโยงและแลกเปลี่ยนข้อมูลเพื่อสร้างความร่วมมือระหว่างผู้ป่วยและทีมสุขภาพ 6) การสร้างเครือข่ายความร่วมมือของทีมสุขภาพสร้างเครือข่ายผู้ป่วยที่มีประสบการณ์ผ่านการรักษามาเป็นต้นแบบในการเสริมพลังใจแก่ผู้ป่วยใหม่

ผลลัพธ์การดำเนินงาน ผู้ป่วยทั้งหมด 15 คน ได้รับการรักษาครบตามแผนการรักษา ไม่มีภาวะทุพโภชนาการระดับรุนแรงจนต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล  พบภาวะเยื่อบุช่องปากอักเสบระดับรุนแรงร้อยละ 13.3  และบุคลากรทีมสุขภาพและพยาบาลวิชาชีพมีความพึงพอใจต่อรูปแบบบริการพยาบาลที่พัฒนาขึ้นระดับมาก และปฏิบัติตามแนวปฏิบัติทางการพยาบาลที่พัฒนาขึ้น ร้อยละ 93.7 มีพยาบาลผู้จัดการรายกรณีประสานการดูแลผู้ป่วยจึงเกิดระบบการรักษาเชื่อมต่อกับระบบสารสนเทศ ที่เชื่อมประสานการดูแลกับโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลและผู้นำชุมชน

Downloads

เผยแพร่แล้ว

2019-12-27