ภาพสะท้อนทางความคิดต่อการเจ็บป่วยของผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังระยะที่ 3 ที่มีการทำงานของไตลดลงอย่างรวดเร็ว Illness Representation of Patients with Chronic Kidney Disease Stage 3 with a Rapid Decline of Kidney Function
บทคัดย่อ
การทำงานของไตลดลงอย่างรวดเร็วในผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังเป็นปัญหาที่สำคัญของระบบสุขภาพ การรับรู้ภาวะสุขภาพส่งผลต่อการชะลอการดำเนินของโรค การศึกษาครั้งนี้เป็นการวิจัยเชิงบรรยายเพื่อศึกษาภาพสะท้อนทางความคิดต่อการเจ็บป่วยของโรคไตเรื้อรังระยะที่ 3 ที่มีการทำงานของไตลดลงอย่างรวดเร็ว ผู้ป่วยจำนวน 105 คน ที่โรงพยาบาลศรีนครินทร์ได้รับการสอบถามการรับรู้ต่อการเจ็บป่วยของโรคไตเรื้อรังระยะที่3 ด้วยเครื่องมือ Chronic Kidney Disease Stage3 Perception Questionnaire (CKD-3PQ) ดำเนินการเก็บข้อมูลระหว่างเดือนเมษายน – เดือนมิถุนายน 2562 เครื่องมือดังกล่าวพัฒนาขึ้นโดยผู้วิจัยตามกรอบแนวคิด The Commonsense Model ประกอบด้วย 6 ด้าน คือ 1.ลักษณะของการเจ็บป่วย (identity) 2.สาเหตุของการเจ็บป่วย (cause) 3.ขอบเขตเวลาของการเจ็บป่วย (timeline) 4.การรักษาหรือควบคุม (control/cure) 5.ผลที่จะตามมาจากการเจ็บป่วย (consequences) 6.อารมณ์ต่อการเจ็บป่วย (emotional) ความตรงตามเนื้อหาประเมินผ่านผู้เชี่ยวชาญจำนวน 5 ท่าน ได้ค่าความตรงตามเนื้อหาเท่ากับ 0.97 คำนวณหาความเที่ยงโดยใช้สูตรสัมประสิทธิ์แอลฟาครอนบาค มีค่าเท่ากับ 0.89 วิเคราะห์โดยข้อมูลด้วยสถิติเชิงพรรณนาโดยการแจกแจงความถี่ ค่าเฉลี่ย ร้อยละ และค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน
ผลการศึกษาพบว่า ภาพสะท้อนทางความคิดต่อการเจ็บป่วยด้วยโรคไตเรื้อรังระยะที่ 3 ที่มีการทำงานของไตลดลงอย่างรวดเร็ว มีดังนี้ 1.ด้านลักษณะของโรค พบว่ากลุ่มตัวอย่างมีการรับรู้ลักษณะที่บ่งบอกว่าเป็นโรคไตเรื้อรังระยะที่ 3ในระดับปานกลาง (Mean =2.95, SD =.43) ทั้งแบบที่รับรู้ว่าการเป็นโรคไตเรื้อรังระยะที่ 3 จะมีทั้งมีอาการต่างๆ และ อาจไม่อาการผิดปกติใดๆ 2. ด้านสาเหตุ สาเหตุของโรคไตเรื้อรังระยะที่ 3 ตามการรับรู้ของกลุ่มตัวอย่าง 3 สาเหตุหลัก คือ 1. การกินเค็ม กินผงชูรส กินผงนัว ทำให้ไตเสื่อม ไตเสียเร็วขึ้น (Mean=4.76, SD=.56) 2.การกินปลาร้า ทำให้ไตเสื่อมไตพังเร็วขึ้น (Mean=4.65, SD=.66) 3.การกินอาหารนอกบ้าน กินอาหารสำเร็จรูป ทำให้ไตเสื่อมมากขึ้น (Mean=4.59, SD=.64) 3. ด้านระยะเวลา การรับรู้ของกลุ่มตัวอย่าง เกี่ยวกับขอบเขตเวลาของการเจ็บป่วยด้วยโรคไตเรื้อรังระยะที่ 3 ระดับปานกลางมีค่าเฉลี่ยการรับรู้ด้านเวลาเท่ากับ (Mean= 3.66, SD =.73) เป็นโรคที่มีลักษณะเดี๋ยวดีเดี๋ยวร้าย บางวันอาการดี บางวันอาการแย่ และเป็นเรื้อรัง ไม่หายขาด 4.ด้านผลกระทบ กลุ่มตัวอย่างมีการรับรู้เกี่ยวกับผลกระทบของการเจ็บป่วยด้วยโรคไตเรื้อรังระยะที่ 3 ในภาพรวมระดับการรับรู้อยู่ในระดับปานกลาง (Mean=2.39 SD=.66) แสดงให้เห็นว่าโรคไตเรื้อรังไม่ส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวันเพราะยังไม่มีอาการ เหมือนคนปกติ 5. ด้านการรักษาการควบคุม กลุ่มตัวอย่างมีการรับรู้ว่าการเจ็บป่วยด้วยโรคไตเรื้อรังระยะที่ 3 สามารถรักษาได้ควบคุมได้ ในระดับสูง (Mean=4.56 SD=.42) และเชื่อว่าสมุนไพร สามารถรักษาโรคไตเรื้อรังระยะที่ 3ได้ในระดับสูง (Mean=4.2, SD=.82) 6.ภาพสะท้อนทางด้านอารมณ์ต่อการเจ็บป่วย กลุ่มตัวอย่างมีการรับรู้ว่าการเจ็บป่วยด้วยโรคไตเรื้อรังระยะที่ 3 ส่งผลกระทบต่ออารมณ์ในระดับปานกลาง (Mean=2.97, SD=1.04)
ผลการวิจัยครั้งนี้ชี้ให้เห็นว่า ผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังระยะที่ 3 ที่มีการทำงานของไตลดลงอย่างรวดเร็วมีการรับรู้ทั้งที่สอดคล้องกับทางการแพทย์และไม่สอดคล้อง ดังนั้นการประเมินการรับรู้เกี่ยวกับการเจ็บป่วยในผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังระยะที่ 3 จึงมีความสำคัญและอาจส่งผลต่อการดูแลตนเองและการดำเนินโรค