การศึกษาเปรียบเทียบผลลัพธ์ผู้ป่วยที่คัดสรรระหว่างผู้ป่วยผ่าตัดหัวใจแบบเปิด ที่ได้รับการถอดท่อช่วยหายใจออกและที่คาท่อช่วยหายใจออกมาจากห้องผ่าตัด A Comparison Study of Selected Patient Outcomes between Patients Undergoing Open Heart Surgery Extubated and Intubated from Surgery Room

ผู้แต่ง

  • สุวิมล วงษาจันทร์
  • มะลิวรรณ ศิลารัตน์
  • อรทัย สืบกินร
  • วาสนา รวยสูงเนิน

คำสำคัญ:

การผ่าตัดหัวใจแบบเปิด ระยะเวลาการนอนในหอผู้ป่วยวิกฤต ระยะเวลานอนโรงพยาบาล ภาวะแทรกซ้อนหลัง ผ่าตัดหัวใจ การถอดท่อช่วยหายใจ การคาท่อช่วยหายใจ

บทคัดย่อ

การศึกษานี้เป็นการวิจัยเชิงวิเคราะห์แบบศึกษาไปข้างหน้า เพื่อศึกษาเปรียบเทียบระยะเวลาการนอนในหอผู้ป่วยวิกฤต ระยะเวลาการนอนโรงพยาบาลหลังผ่าตัด และภาวะแทรกซ้อนหลังผ่าตัด ในผู้ป่วยผ่าตัดหัวใจแบบเปิดที่ได้รับการถอดท่อช่วยหายใจออกในห้องผ่าตัด และผู้ป่วยที่คาท่อช่วยหายใจออกมาจากห้องผ่าตัด กลุ่มตัวอย่างคือ ผู้ป่วยที่ได้รับการผ่าตัดหัวใจแบบเปิด ที่เข้ารับการรักษาในหอผู้ป่วยวิกฤตศัลยศาสตร์หัวใจ ศูนย์หัวใจสิริกิติ์ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จำนวน 88 ราย คัดเลือกกลุ่มตัวอย่างตามคุณสมบัติที่กำหนด คือ อายุ 18 ปีขึ้นไป ได้รับการผ่าตัดหัวใจแบบเปิดตามกำหนดการนัดผ่าตัด (Elective case) มีค่าคะแนนความเสี่ยงทางระบบหัวใจและหลอดเลือดก่อนการผ่าตัด (The European System for Cardiac Operative Risk Evaluation II) EuroSCORE II น้อยกว่า 6 แบ่งเป็นกลุ่มที่ได้รับการถอดท่อช่วยหายใจออกในห้องผ่าตัด และกลุ่มที่คาท่อช่วยหายใจออกมาจากห้องผ่าตัด กลุ่มละ 44 ราย เครื่องมือในการเก็บรวบรวมข้อมูล ได้แก่ 1) แบบบันทึกข้อมูลทั่วไปของกลุ่มตัวอย่าง ประกอบด้วย ข้อมูลก่อนผ่าตัด ข้อมูลการรักษาและการผ่าตัด ระยะเวลาอยู่รักษาในหอผู้ป่วยวิกฤต ระยะเวลาการนอนในโรงพยาบาลหลังผ่าตัด 2) แบบบันทึกประเมิน EuroSCORE II และ 3) แบบบันทึกข้อมูลการเกิดภาวะแทรกซ้อนหลังผ่าตัด วิเคราะห์ข้อมูลด้วยสถิติเชิงพรรณนา, Chi-square, Fisher’s exact, t-test, และ Mann-Whitney U test

                ผลการศึกษาพบว่า กลุ่มผู้ป่วยผ่าตัดหัวใจแบบเปิดที่ได้รับการถอดท่อช่วยหายใจออกในห้องผ่าตัดมีระยะเวลาการนอนในหอผู้ป่วยวิกฤตสั้นกว่ากลุ่มผู้ป่วยผ่าตัดหัวใจแบบเปิดที่คาท่อช่วยหายใจออกมาจากห้องผ่าตัดอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (MeanExt 30.11, SD 17.44; MeanInt 54.42, SD 25.74, p = 0.00) แต่อย่างไรก็ตาม ระยะเวลานอนโรงพยาบาลและการเกิดภาวะแทรกซ้อนหลังผ่าตัดทั้งสองกลุ่มไม่แตกต่างกัน (p = 0.137, p = 0.05, ตามลำดับ)  ภาวะแทรกซ้อนที่พบบ่อยในทั้งสองกลุ่ม ได้แก่ ภาวะหัวใจห้องบนสั่นพลิ้ว (คาท่อ 18.2%, ถอดท่อ 20.5%) ภาวะน้ำในช่องเยื่อหุ้มปอด (คาท่อ 13.6%, ถอดท่อ 6.8%) และการเกิดภาวะปริมาณเลือดออกจากหัวใจในหนึ่งนาทีลดลง (คาท่อ 13.6%, ถอดท่อ 2.3%) จะเห็นได้ว่าภาวะแทรกซ้อนหลังผ่าตัดบางประการมีแนวโน้มเกิดมากกว่าในกลุ่มที่คาท่อ ผลการศึกษาสรุปได้ว่าผู้ป่วยผ่าตัดหัวใจแบบเปิดที่ถอดท่อออกมาจากห้องผ่าตัดมีระยะเวลาอยู่ใน ICU หลังผ่าตัดสั้นกว่า แต่อย่างไรก็ตามภาวะแทรกซ้อนหลังผ่าตัดทั้ง 2 กลุ่มไม่แตกต่างกัน ดังนั้น พยาบาลในหอผู้ป่วยวิกฤต จึงควรเฝ้าระวังติดตามและให้การดูแลเพื่อป้องกันภาวะแทรกซ้อนที่พบได้บ่อยดังกล่าว

Downloads

เผยแพร่แล้ว

2019-12-27