ผลของโปรแกรมส่งเสริมโภชนาการโดยการเฝ้าติดตามตนเองต่อน้ำหนักที่เพิ่มขึ้นของสตรีขณะตั้งครรภ์ Effect of Dietary Promotion through Self-monitoring Program on Gestational Weight Gain of Pregnant Women

ผู้แต่ง

  • วรภรณ์ บุญจีม
  • ปิยะนุช ชูโต
  • บังอร ศุภวิฑิตพัฒนา

คำสำคัญ:

ภาวะน้ำหนักมากกว่าเกณฑ์ในสตรีตั้งครรภ์, การส่งเสริมสุขภาพ การเฝ้าติดตามตนเอง

บทคัดย่อ

ภาวะน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นมากกว่าเกณฑ์มาตรฐานเป็นภาวะที่พบได้สูงขึ้นในสตรีตั้งครรภ์ ภาวะดังกล่าวจะทำให้เกิดความเสี่ยงต่อสตรีตั้งครรภ์และทารกในครรภ์ได้ ดังนั้นการควบคุมน้ำหนักให้เป็นไปตามเกณฑ์มาตรฐานตามดัชนีมวลกายก่อนการตั้งครรภ์ของสถาบันการแพทย์อเมริกัน (Institute Of Medicin)[IOM]จึงมีความสำคัญ การวิจัยแบบสุ่มกลุ่มตัวอย่างไม่สมบูรณ์(pseudo-randomized controlled trial research design) แบบ 2 กลุ่ม วัดก่อนและหลังการทดลองครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อเปรียบเทียบค่าเฉลี่ยของน้ำหนักที่มากกว่าเกณฑ์มาตรฐานภายในกลุ่มที่ได้รับโปรแกรมส่งเสริมโภชนาการโดยการเฝ้าติดตามตนเอง (กลุ่มทดลอง) และเปรียบเทียบค่าเฉลี่ยของน้ำหนักที่เพิ่มระหว่างตั้งครรภ์มากกว่าเกณฑ์มาตรฐานในกลุ่มทดลองและกลุ่มควบคุม กลุ่มตัวอย่างคือ สตรีตั้งครรภ์แรกที่มีภาวะน้ำหนักเพิ่มขึ้นมากกว่าเกณฑ์มาตรฐานเมื่ออายุครรภ์ 27-29 สัปดาห์ และมารับบริการที่แผนกฝากครรภ์ โรงพยาบาลสรรพสิทธิประสงค์ จังหวัดอุบลราชธานี ตั้งแต่เดือนมกราคม 2561 ถึงเดือนมีนาคม 2562 จำนวน 50 ราย แบ่งเป็นกลุ่มควบคุม 26 ราย และกลุ่มทดลอง 24 ราย โดยกลุ่มควบคุมจะได้รับการพยาบาลตามปกติและกลุ่มทดลองได้รับโปรแกรมส่งเสริมโภชนาการตามแนวคิดของเพนเดอร์ร่วมกับการเฝ้าติดตามตนเองด้วยโมบายแอพพลิเคชั่น Z-Baby Plus เครื่องมือที่ใช้ในการดำเนินการวิจัย ได้แก่ แผนการส่งเสริมโภชนาการโดยการเฝ้าติดตามตนเอง คู่มือการส่งเสริมโภชนาการร่วมกับการเฝ้าติดตามตนเอง คู่มือการใช้งานโมบายแอพพลิเคชั่น Z-Baby Plus ซึ่งผ่านการพิจารณาความตรงของเนื้อหาโดยผู้ทรงคุณวุฒิจำนวน 3 ท่าน และเครื่องชั่งน้ำหนักที่ผ่านการประเมินความเที่ยงตรง และเครื่องมือที่ใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูล ได้แก่ แอพพลิเคชั่น Z-Baby plus และแบบบันทึกการเพิ่มของน้ำหนักสตรีตั้งครรภ์ วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้สถิติพรรณนา สถิติวิเคราะห์ความแปรปรวนทางเดียวแบบมีการวัดซ้ำ (one-way repeated measure ANOVA) และสถิติวิเคราะห์ความแปรปรวนเมื่อมีการวัดซ้ำ (repeated measure ANOVA)

ผลการวิจัยพบว่ากลุ่มทดลองมีค่าเฉลี่ยของน้ำหนักที่มากกว่าเกณฑ์มาตรฐานเมื่ออายุครรภ์ 31-33 สัปดาห์ และ 35-37 สัปดาห์ น้อยกว่าน้ำหนักที่เพิ่มขึ้นในช่วงอายุครรภ์ 27-29 สัปดาห์ อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p< .05) และกลุ่มทดลองมีค่าเฉลี่ยของน้ำหนักที่มากกว่าเกณฑ์มาตรฐานเพิ่มขึ้นน้อยกว่ากลุ่มควบคุมอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p< .05)

ผลการวิจัยครั้งนี้ ชี้ให้เห็นว่าการส่งเสริมพฤติกรรมสุขภาพและการเฝ้าติดตามตนเองสามารถเปลี่ยนพฤติกรรมได้ พยาบาลผดุงครรภ์ ควรใช้โปรแกรมการส่งเสริมโภชนาการโดยการเฝ้าติดตามตนเอง เพื่อส่งเสริมให้สตรีตั้งครรภ์ควบคุมการเพิ่มขึ้นของน้ำหนักตามเกณฑ์มาตรฐานต่อไป

Downloads

เผยแพร่แล้ว

2019-12-27