ประสิทธิผลของการใช้แนวปฏิบัติการป้องกันการเกิดแผลกดทับในผู้ป่วยอาการหนัก โรงพยาบาลค่ายประจักษ์ศิลปาคม จังหวัดอุดรธานี The effectiveness of Clinical Practice Guidelines for Pressure Sore Prevention Among Critical Patients, Fort Prachaksinlapakom Hospital, Udonthani Province
คำสำคัญ:
แผลกดทับ แนวปฏิบัติ ผู้ป่วยอาการหนักบทคัดย่อ
การวิจัยกึ่งทดลองนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษา ผลของการใช้แนวปฏิบัติการป้องกันการเกิดแผลกดทับในผู้ป่วยอาการหนักโรงพยาบาลค่ายประจักษ์ศิลปาคม จังหวัดอุดรธานี การพัฒนาแนวปฏิบัติใช้กรอบแนวคิดของสภาวิจัยทางการแพทย์และสุขภาพแห่งชาติประเทศออสเตรเลีย ทีมพัฒนาประกอบด้วย พยาบาล 8 คน แพทย์ 1 คน เภสัชกร 1 คน นักกายภาพบำบัด 1 คนและนักโภชนาการ 1 คน รวม 12 คน เก็บข้อมูลจากพยาบาลผู้ใช้แนวปฏิบัติ จำนวน 8 คน และผู้ป่วยอาการหนัก จำนวน 30 คน ที่เลือกมาอย่างเฉพาะเจาะจง แบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มทดลองและกลุ่มควบคุม กลุ่มละ 15 คน เครื่องมือเป็นแบบบันทึกข้อมูลผู้ป่วย แบบสอบถามความคิดเห็นของพยาบาลผู้ใช้แนวปฏิบัติ แบบประเมินความเสี่ยงของบราเดน และแบบบันทึกการเกิดแผลกดทับ วิเคราะห์ข้อมูลใช้สถิติเชิงพรรณนา เปรียบเทียบอุบัติการณ์การเกิดแผลกดทับ ระหว่างกลุ่มทดลองและกลุ่มควบคุม ใช้ค่าร้อยละ และ Chi square
ผลการวิจัยพบว่า 1) อุบัติการณ์การเกิดแผลกดทับระหว่างกลุ่มทดลองและกลุ่มควบคุม แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ 0.01 โดยกลุ่มทดลองไม่มีแผลกดทับเกิดขึ้น และกลุ่มควบคุมมีแผลกดทับเกิดขึ้นร้อยละ 0.06 และ 2) คะแนนเฉลี่ยความพึงพอใจโดยรวมของพยาบาลต่อแนวปฏิบัติอยู่ในระดับมากที่สุด (X̅ 4.88, S.D .32) โดยเห็นว่า แนวปฏิบัติมีความเหมาะสมระดับมากที่สุดทุกด้าน ได้แก่ นำไปใช้ได้ง่าย ไม่ยุ่งยาก ซับซ้อน (X̅4.8, S.D .46) เนื้อหาชัดเจน เข้าใจง่าย (X̅ 4.8, S.D .32) มีประโยชน์ต่อหน่วยงาน (X̅ 5, S.D .00) มีความเป็นไปได้ในการนำไปใช้ในหน่วยงาน (X̅ 4.88, S.D .32) กล่าวโดยสรุปคือ การใช้แนวปฏิบัติการป้องกันการเกิดแผลกดทับ สามารถป้องกันการเกิดแผลกดทับในผู้ป่วยอาการหนักโรงพยาบาลค่ายประจักษ์ศิลปาคมได้