สุขภาวะทางเพศในสตรีที่มีปัญหาทางนรีเวชหลังได้รับการผ่าตัดมดลูก Sexual Health in Women with Gynecological Problem after Hysterectomy

ผู้แต่ง

  • ชุติพันธุ์ เอื้อจิตทวีชัย
  • บัวหลวง สำแดงฤทธิ์
  • ขนิตฐา หาญประสิทธิ์คำ

คำสำคัญ:

สุขภาวะทางเพศ ตัดมดลูก ปัจจัย

บทคัดย่อ

การศึกษาครั้งนี้เป็นการวิจัยแบบความสัมพันธ์เชิงบรรยาย มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาสุขภาวะทางเพศและปัจจัยที่สัมพันธ์กับสุขภาวะทางเพศในสตรีหลังการผ่าตัดทางนรีเวช กลุ่มตัวอย่างเป็นสตรีที่มีปัญหาทางนรีเวชหลังได้รับการผ่าตัดมดลูกหรือผ่าตัดมดลูกและรังไข่ จำนวน 65 คนที่มาตรวจตามนัดหลังผ่าตัด ณ หน่วยตรวจผู้ป่วยนอกนรีเวช โรงพยาบาลรามาธิบดี เก็บรวบรวมข้อมูลระหว่างเดือนกรกฎาคมถึงกันยายน พ.ศ. 2561 โดยใช้แบบสอบถาม 3 ส่วน ได้แก่ ส่วนที่ 1 แบบสอบถามข้อมูลส่วนบุคคล โรค และการรักษา ส่วนที่ 2 แบบสอบถามสัมพันธภาพระหว่างคู่สมรส และส่วนที่ 3 แบบสอบถามสุขภาวะทางเพศ วิเคราะห์ข้อมูลด้วยสถิติบรรยาย สัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์แบบสเปียร์แมนและสถิติแมนวิทนีย์ ยูเทส

                ผลการศึกษาพบว่า กลุ่มตัวอย่างมีอายุเฉลี่ย 45.22 ปี (SD = 5.64) ระยะเวลาการสมรสหรืออยู่ร่วมกันมีค่าเฉลี่ย 18.42 ปี (SD = 7.74) มีสัมพันธภาพระหว่างคู่สมรสในระดับค่อนข้างดี (ร้อยละ 56.9) และระดับดี (ร้อยละ 36.9) มีสุขภาวะทางเพศในระดับปานกลาง (ร้อยละ 69.2) และมาก (ร้อยละ 12.3)   จากการวิเคราะห์ปัจจัยที่สัมพันธ์กับสุขภาวะทางเพศ พบว่า สัมพันธภาพระหว่างคู่สมรสมีความสัมพันธ์ทางบวกกับสุขภาวะทางเพศในสตรีที่มีปัญหาทางนรีเวชหลังการผ่าตัดอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (r = .472, p < .001) ส่วนอายุ และระยะเวลาการสมรสไม่มีความสัมพันธ์กับสุขภาวะทางเพศในสตรีหลังการผ่าตัดมดลูกหรือผ่าตัดมดลูกและรังไข่ เมื่อวิเคราะห์เปรียบเทียบสุขภาวะทางเพศในสตรีที่มีระดับการศึกษาต่างกัน และได้รับการผ่าตัดต่างชนิดกัน พบว่า ไม่มีความแตกต่างของสุขภาวะทางเพศในสตรีที่มีระดับการศึกษาและการผ่าตัดต่างชนิดกัน

                ผลการศึกษาครั้งนี้ ทำให้ทราบข้อมูลพื้นฐานของสุขภาวะทางเพศและปัจจัยที่มีความสัมพันธ์กับสุขภาวะทางเพศในสตรีที่มีปัญหาทางนรีเวชหลังการผ่าตัด เจ้าหน้าที่ทีมสุขภาพควรส่งเสริมสัมพันธภาพระหว่างคู่สมรสในสตรีหลังการผ่าตัดมดลูกหรือผ่าตัดมดลูกและรังไข่ เพื่อส่งเสริมให้มีสุขภาวะทางเพศและมีคุณภาพชีวิตที่ดีต่อไป

Downloads

เผยแพร่แล้ว

2019-12-27