ผลของโปรแกรมการพัฒนาความรอบรู้ด้านสุขภาพร่วมกับแรงสนับสนุนทางสังคม ต่อพฤติกรรมการป้องกันการตั้งครรภ์ของวัยรุ่นตอนต้น The effects of health literacy and social support development program on pregnant prevention behaviors for early adolescent
คำสำคัญ:
วัยรุ่นตอนต้น การป้องกันการตั้งครรภ์ กิจกรรมแทรกแซง แรงสนับสนุนทางสังคม ความรอบรู้ด้านสุขภาพบทคัดย่อ
การวิจัยครั้งนี้เป็นการวิจัยแบบกึ่งทดลอง มีความมุ่งหมายเพื่อศึกษาผลของโปรแกรมการพัฒนาความรอบรู้ด้านสุขภาพร่วมกับแรงสนับสนุนทางสังคมต่อพฤติกรรมการป้องกันการตั้งครรภ์ของวัยรุ่นตอนต้น กลุ่มตัวอย่างนักเรียนทั้งเพศชายและเพศหญิงอายุระหว่าง 10 - 13 ปี จำนวน 96 คน แบ่งเป็นกลุ่มทดลอง 48 คน กลุ่มเปรียบเทียบ 48 คน กลุ่มทดลองได้รับโปรแกรมการพัฒนาความรอบรู้ด้านสุขภาพร่วมกับแรงสนับสนุนทางสังคม จำนวน 8 สัปดาห์ โปรแกรมการอบรมประกอบด้วย กิจกรรมการเล่นเกม การระดมสมอง การฝึกทักษะความรอบรู้ด้านสุขภาพ 6 ด้าน วิธีการป้องกันการตั้งครรภ์ การแสดงความคิดเห็นและข้อเสนอแนะจากวีดิทัศน์ การแสดงบทบาทสมมติ การนำเสนอแนวคิดของวัยรุ่นในการป้องกันการตั้งครรภ์ การศึกษาข้อมูลด้วยตนเองผ่านแอปพลิเคชันและเว็บไซต์ออนไลน์ การอภิปรายกลุ่ม การประเมินความรู้ ผลลัพธ์หลักคือพฤติกรรมการป้องกันการตั้งครรภ์ของวัยรุ่น การเก็บรวบรวมข้อมูลโดยใช้แบบสอบถามตอบด้วยตนเอง สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล ได้แก่ ค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย ค่าส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน ค่าสูงสุด และค่าต่ำสุด เปรียบเทียบความแตกต่างภายในกลุ่มค่าคะแนนเฉลี่ยด้วยสถิติ Paired T-Test เปรียบเทียบความแตกต่างระหว่างกลุ่มค่าคะแนนเฉลี่ยด้วยสถิติ Independent T-Test กำหนดนัยสำคัญทางสถิติที่ 0.05 และค่าความเชื่อมั่นที่ 95%
ผลการศึกษาพบว่า หลังการทดลอง กลุ่มทดลองมีคะแนนเฉลี่ยด้านพฤติกรรมการป้องกันการตั้งครรภ์ในวัยรุ่นสูงกว่ากลุ่มเปรียบเทียบอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (Mean difference = 3.67; 95%CI: 1.56 ถึง 5.78; p < 0.001)
ผลการศึกษานี้ให้ข้อเสนอแนะว่า พยาบาลหรือผู้มีหน้าที่รับผิดชอบสุขภาพวัยรุ่นควรส่งเสริมการพัฒนาความรอบรู้ด้านสุขภาพร่วมกับแรงสนับสนุนทางสังคมในวัยรุ่นตอนต้น โดยเน้นทักษะที่เกี่ยวกับการเข้าถึงข้อมูลและบริการสุขภาพ การสื่อสารเพื่อเพิ่มความเชี่ยวชาญ การรู้เท่าทันสื่อและสารสนเทศ การตัดสินใจเลือกปฏิบัติที่ถูกต้อง และการจัดการตนเอง เพื่อส่งผลให้เกิดพฤติกรรมการป้องกันการตั้งครรภ์ในวัยรุ่นที่เหมาะสม