ปัจจัยทำนายพฤติกรรมการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในนักเรียนวัยรุ่น ในเขตเทศบาล จังหวัดสุรินทร์ Factors Predicting Alcohol Drinking Behavior Among Adolescent Students In Surin Municipality

ผู้แต่ง

  • ณกร ลูกสยาม
  • นันทิยา วัฒายุ
  • ดวงใจ รัตนธัญญา

คำสำคัญ:

พฤติกรรมการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ปัจจัยเสี่ยงด้านครอบครัว ปัจจัยเสี่ยงด้านเพื่อน ความแข็งแกร่งในชีวิต

บทคัดย่อ

การบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ยังคงเป็นปัญหาสาธารณสุขและสังคมที่สำคัญโดยเฉพาะในกลุ่มวัยรุ่น นับเป็นสาเหตุหลักที่สำคัญนำไปสู่การเจ็บป่วยและการตายในกลุ่มวัยรุ่น การวิจัยครั้งนี้เป็นการศึกษาวิจัยเชิงทำนาย มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาพฤติกรรมการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และปัจจัยทำนายของปัจจัยเสี่ยงด้านครอบครัว ด้านเพื่อน และความแข็งแกร่งในชีวิตต่อพฤติกรรมการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในนักเรียนวัยรุ่น กลุ่มตัวอย่างใช้วิธีการสุ่มอย่างง่าย จากสถาบันการศึกษาสายสามัญ 1 แห่ง และสายวิชาชีพ 1 แห่ง ในเขตเทศบาลจังหวัดสุรินทร์ เป็นนักเรียนวัยรุ่น ที่ผ่านเกณฑ์การคัดเลือก จำนวน 253 คน เก็บรวบรวมข้อมูลโดยใช้แบบสอบถาม วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้สถิติเชิงพรรณนา และสถิติการวิเคราะห์ถดถอยเชิงเส้นพหุคูณ

ผลการศึกษา พบว่า นักเรียนวัยรุ่นดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ร้อยละ 51.7 เป็นเพศชาย ร้อยละ 89.3 และเพศหญิง ร้อยละ 0.6 ส่วนใหญ่มีพฤติกรรมการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แบบเสี่ยงต่ำ (Mean = 3.94, SD = 5.47) ปัจจัยที่สามารถทำนายพฤติกรรมการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในนักเรียนวัยรุ่น ได้แก่ ปัจจัยเสี่ยงด้านเพื่อนและปัจจัยเสี่ยงด้านครอบครัว ทั้งสองปัจจัยสามารถร่วมทำนายความแปรปรวนของพฤติกรรมการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ของนักเรียนวัยรุ่นได้ ร้อยละ 32.7 (R2 = 0.327, F = 60.82, p < .001) โดยปัจจัยเสี่ยงด้านเพื่อนมีอิทธิพลสูงสุด (ß = .542, p = .001) รองลงมาคือ ปัจจัยเสี่ยงด้านครอบครัวมีอิทธิพล (ß = .106, p = .047)

 ผลการศึกษานี้ให้ข้อเสนอแนะว่า เมื่อออกแบบโปรแกรมเพื่อการป้องกันพฤติกรรมการดื่มแอลกอฮอล์
ในวัยรุ่น ควรส่งเสริมเพื่อนสนิทของนักเรียนวัยรุ่นให้เข้าร่วมโปรแกรม นอกจากนี้โปรแกรมป้องกันควรมุ่งที่ครอบครัวเป็นกลุ่มเป้าหมายในการจัดการการเข้าถึงแอลกอฮอล์ของวัยรุ่น โดยการสร้างเสริมสัมพันธภาพที่ดีในครอบครัว

Downloads

เผยแพร่แล้ว

2019-12-27