นวัตกรรมการเรียนการสอนทางการพยาบาล: สถานการณ์เสมือนจริง
บทคัดย่อ
บทบาทสำคัญของอาจารย์คือการพัฒนานวัตกรรมทางการสอนให้มีประสิทธิภาพ บทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่ออธิบายการสอนด้วยสถานการณ์เสมือนจริงซึ่งเป็นนวัตกรรมการเรียนการสอนทางการพยาบาลในศตวรรษที่21 ความเจริญก้าวหน้าของเทคโนโลยีทำให้มีแนวโน้มว่าการสอนโดยใช้สถานการณ์เสมือนจริงจะเป็นที่สนใจมากขึ้นด้วยระดับความเสมือนจริงคล้ายกับความจริงมากที่สุดส่งผลลัพธ์หลายประการประกอบด้วยการส่งเสริมสมรรถนะทางทักษะการพยาบาล ทักษะการคิดวิเคราะห์ ทักษะการตัดสินใจทางคลินิก ซึ่งเป็นสมรรถนะที่คาดหวังของพยาบาลในอนาคตการเจริญเติบโตทางด้านเศรษฐกิจและสังคมอย่างรวดเร็วส่วนหนึ่งเป็นผลจากการพัฒนาด้านเทคโนโลยี โดย เฉพาะเทคโนโลยีด้านการสื่อสารที่มีผลกระทบต่อวิถีการดำเนินชีวิตของผู้คนเป็นอย่างมาก การพัฒนาเทคโนโลยีด้านคอมพิวเตอร์ ไอแพด และมัลติมีเดีย ล้วนมีผลกระทบและก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงต่อการจัดการศึกษาพยาบาลมาตลอดระยะเวลา 20 ปี
นอกจากนี้แล้ว การพัฒนาทางสังคมและเศรษฐกิจของโลกก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงและการพัฒนาระบบการดูแลสุขภาพ เรียกร้องให้มีการเปลี่ยนแปลงระบบการจัดการศึกษาที่สามารถตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากร ผู้รับบริการที่หลากหลาย มีความแตกต่างทางวัฒนธรรม ซึ่งปัจจัยต่างๆเหล่านี้จึงมีความจำเป็นต้องมีการเตรียมนักศึกษาพยาบาลให้สามารถบริการสุขภาพได้สอดคล้องกับความคาดหวังและการเปลี่ยนแปลงของระบบบริการสุขภาพ
เมื่อพิจารณาสมรรถนะที่จำเป็นของพยาบาลในการดูแลสุขภาพของประชาชนคือการคิดเชิงวิเคราะห์ การใช้ตรรกะทางคลินิกและการตัดสินใจ ทำให้ครูพยาบาลต้องมีการเปลี่ยนแปลงต่อการจัดการศึกษาเพื่อผลิตบัณฑิตให้สามารถตอบสนองต่อความต้องการของระบบบริการสุขภาพในอนาคต
การจัดการศึกษาพยาบาลประกอบด้วย 3 ส่วนใหญ่ๆคือการสอนในห้องบรรยาย การสอนในห้องปฏิบัติการและการสอนในคลินิก ซึ่งทั้ง 3 ส่วนต่างมีความสำคัญในการพัฒนาคุณลักษณะของพยาบาลวิชาชีพ การสอนบรรยายเน้นความรู้ทฤษฎีแนวคิดหลักการ ส่วนการสอนทักษะส่วนหนึ่งจะเรียนรู้ในห้องปฏิบัติการจะเน้นการฝึกทักษะการพยาบาลพื้นฐานและที่สำคัญคือการฝึกปฏิบัติในคลินิกที่เป็นสถานการณ์จริง ความรู้ทั้ง 3 ส่วนนี้ต้องมีการเชื่อมโยงกัน ดังนั้น การจำลองสถานการณ์ในการเรียนการสอนในห้องบรรยายและห้องปฏิบัติการจึงต้องมีความใกล้เคียงกับสถานการณ์จริงในคลินิกมากที่สุดจึงจำเป็นต้องใช้สถานการณ์เสมือนจริงเพื่อช่วยให้ผู้เรียนรู้สึกคุ้นเคย ลดช่องว่างระหว่างความรู้ทฤษฎีกับการนำความรู้มาใช้ในทางปฏิบัติได้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น