การมีส่วนร่วมของชุมชนท้องถิ่นกับการพัฒนาศักยภาพของศูนย์พัฒนาเด็กเล็กสู่การเป็นศูนย์เด็กเล็กต้นแบบ: กรณีศึกษาพื้นที่ภาคกลางและภาคตะวันตก

ผู้แต่ง

  • ปิยะธิดา นาคะเกษียร
  • ยุวดี พงษ์สาระนันทกุล

คำสำคัญ:

การมีส่วนร่วมของชุมชนท้องถิ่น, ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก

บทคัดย่อ

การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษากระบวนการมีส่วนร่วมของภาคีผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการพัฒนาศูนย์พัฒนาเด็กเล็กสังกัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และวิเคราะห์ปัจจัยที่มีผลต่อการมีส่วนร่วมของชุมชนกับการพัฒนาศูนย์พัฒนาเด็กเล็กสังกัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ผู้วิจัยใช้การวิจัยเชิงคุณภาพ (Qualitative research) กลุ่มตัวอย่างที่เป็นผู้ให้ข้อมูลหลัก จำนวน 30 คน ซึ่งได้แก่ บุคลากรของเทศบาล เจ้าหน้าที่สาธารณสุข ศึกษาในบริบทของศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก 2 แห่งในเขตเทศบาลเมือง มีการเก็บรวบรวมข้อมูลที่หลากหลาย ได้แก่ สัมภาษณ์เจาะลึก (In-depth interviews) การสนทนากลุ่ม (Focus group) ร่วมกับการศึกษาข้อมูลจากเอกสาร (document) วิเคราะห์ข้อมูลเชิงเนื้อหา

ผลการศึกษาชี้ให้เห็นถึง การให้ความหมายของการมีส่วนร่วมกับการพัฒนาศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก ที่ทุกฝ่ายมองว่า การมีส่วนร่วมเป็นสิ่งสำคัญ มีหลากหลายลักษณะ เช่น ร่วมวางแผน ร่วมให้บริการในด้านต่างๆ และร่วมสนับสนุนงบประมาณ  พบว่า ผู้ที่มีบทบาทในการดำเนินงานของศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก มีดังนี้ ผู้บริหารเทศบาลเมืองมีบทบาทในการกำหนดวิสัยทัศน์ แผนการพัฒนาศูนย์ฯ สนับสนุนงบประมาณ ฝ่ายการศึกษา กำหนดแผนการจัดการเรียนรู้ และเจ้าหน้าที่สาธารณสุขมีหน้าที่ในการให้บริการสุขภาพแก่เด็กในศูนย์ฯ และกระบวนการมีส่วนร่วมในการพัฒนาศูนย์เด็กเล็ก ประกอบด้วย การร่วมคิด ร่วมวางแผน และร่วมให้การบริการดูแลเด็กเล็ก รวมถึงการมีส่วนร่วมของชุมชนซึ่งได้แก่ การนำทุนภูมิปัญญาวัฒนธรรมมาเป็นส่วนหนึ่งในการจัดประสบการณ์การเรียนรู้ให้แก่เด็ก ปัจจัยเงื่อนไขที่ช่วยเสริมหนุนให้เกิดการมีส่วนร่วมในการพัฒนาศูนย์เด็กเล็กคือ การเห็นความสำคัญของการพัฒนาเด็กซึ่งเป็นลูกหลานของคนในชุมชน ต้องการเห็นศูนย์เด็กเล็กในพื้นที่พัฒนาเป็นศูนย์ต้นแบบ  รวมถึงการมีนโยบายการสนับสนุนที่ชัดเจน

Downloads