การพัฒนาระบบบริการพยาบาลโดยผู้ปฏิบัติการพยาบาลขั้นสูงในสถานบริการสุขภาพ
คำสำคัญ:
ระบบบริการพยาบาล ผู้ปฏิบัติการพยาบาลขั้นสูงบทคัดย่อ
การวิจัยเชิงปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วมนี้มุ่งพัฒนาระบบบริการพยาบาลโดยผู้ปฏิบัติการพยาบาลขั้นสูง (Advanced practice nurse: APN) โดยใช้ PEPPA framework ของ Bryant-Lukosius et al. ร่วมกับใช้ 6 บทบาทของAPN มีการดำเนินงาน 3 ระยะ 1) วิเคราะห์สถานการณ์ 2) เสริมพลังอำนาจAPNให้พัฒนาบทบาทและบริการพยาบาลโดยใช้ PEPPA framework 3) ประเมินผลแบบมีส่วนร่วม ผู้ร่วมวิจัยหลักและรองเป็น APN 12 คน และเป็นผู้บริหารทางการพยาบาล 6 คน จาก 6 โรงพยาบาลของจังหวัดชัยภูมิ ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียคือพยาบาลในทีมของAPN จำนวน 138 คน และผู้ป่วยกลุ่มเป้าหมายการดูแลของ APN จำนวน 342 คน ผู้วิจัยเก็บรวบรวมข้อมูลโดยสัมภาษณ์เชิงลึก สังเกตแบบมีส่วนร่วม และอำนวยความสะดวกในการระดมสมอง เครื่องมือที่ใช้ได้แก่ แบบสัมภาษณ์ แบบสนทนากลุ่ม แบบบันทึกการสังเกต แบบรายงานตนเองของAPN และแบบสอบถามการรับรู้และความพึงพอใจในระบบบริการพยาบาลโดยAPN วิเคราะห์ข้อมูลเชิงคุณภาพด้วยการวิเคราะห์เนื้อหาโดยมีผู้ร่วมวิจัยร่วมวิเคราะห์ ข้อมูลเชิงปริมาณใช้ร้อยละ ร้อยละ ค่าเฉลี่ย และส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน
ผลการวิจัย พบว่า
APN ทั้ง 12 คนดูแลผู้ป่วยกลุ่มเป้าหมายที่มีภาวะซับซ้อนโดยใช้ PEPPA framework และได้รับการสนับสนุนจากผู้บริหารการพยาบาล และมีการรวมตัวกันของAPNเกิดเป็นเครือข่ายAPNระดับจังหวัด ผลการดำเนินงานพบว่าผู้ป่วยกลุ่มเป้าหมายมีผลลัพธ์ทางคลินิกดีขึ้น เช่น การกลับมารักษาซ้ำภายใน 28 วันด้วยการติดเชื้อของผู้ป่วยคาสายสวนปัสสาวะเท่ากับ 0 ผู้ป่วยจิตเภทซับซ้อนในชุมชนมีอาการรุนแรงลดลง ร้อยละ 100 อัตราการเกิดภาวะแทรกซ้อนของผู้ป่วยหลอดเลือดสมองเท่ากับ0 ผู้ป่วยเบาหวานมีภาวะไตวายระยะเริ่มต้น มีค่า GFR ≥ 30ร้อยละ 93.33 (เพิ่มจากร้อยละ 73.33) จำนวนวันนอนเฉลี่ยของผู้ป่วยหอบหืด 3.16 วัน(ลดลงจาก 4.91 วัน) เป็นต้น APNได้พัฒนาบทบาทของตน พบว่าในจำนวนAPN12 คนมีกลุ่มที่พัฒนาครบ 6 บทบาทจำนวน 6 คน และกลุ่มพัฒนา4 บทบาทอีก6คน โดยขาดบทบาทผู้วิจัยและผู้นำ นอกจากนี้ผลการศึกษาพบว่าAPN ทั้ง 12 คนเห็นว่าPEPPA Framework ใช้พัฒนาบทบาทAPN ประกอบกับการสนับสนุนจากผู้บริหารทางการพยาบาล เกิดระบบบริการพยาบาลโดยAPNได้ จากการประเมินการรับรู้ในระบบบริการพยาบาลโดยAPNของพยาบาลในทีม พบว่าส่วนใหญ่มีการรับรู้โดยรวมระดับมากคิดเป็นร้อยละ 60.87 มีความพึงพอใจต่อระบบในระดับมาก( = 3.65, S.D.=0.67)
ผลการวิจัยแสดงถึงระบบบริการพยาบาลโดยAPN มีการพัฒนาบทบาทของAPNด้วย PEPPA framework ผู้บริหารสนับสนุนการบริการของAPN มีเครือข่ายAPNระดับจังหวัด ทำให้เกิดผลลัพธ์ที่ดี เพิ่มประสิทธิภาพบริการพยาบาล