ความสัมพันธ์ระหว่างการสนับสนุนจากพยาบาล การสนับสนุนจากสามีและปัจจัยส่วนบุคคลกับความเศร้าโศกในมารดาที่สูญเสียทารกในครรภ์

ผู้แต่ง

  • นันทิดา แผ่วครบุรี
  • นิลุบล รุจิรประเสริฐ

คำสำคัญ:

การแท้ง ทารกตายในครรภ์ การสนับสนุนจากพยาบาล การสนับสนุนจากสามี ความเศร้าโศก

บทคัดย่อ

การศึกษาครั้งนี้เป็นการศึกษาเชิงบรรยาย เพื่อศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างการสนับสนุนจากพยาบาล การสนับสนุนจากสามีและปัจจัยส่วนบุคคล ได้แก่ อายุ อายุครรภ์ ความตั้งใจในการตั้งครรภ์ ประวัติการสูญเสียทารกในครรภ์และจำนวนบุตรมีชีวิต กับความเศร้าโศกในมารดาที่สูญเสียทารกในครรภ์  กลุ่มตัวอย่างเป็นมารดาที่สูญเสียทารกในครรภ์ ที่มารับการักษาที่โรงพยาบาลมหาราช  นครราชสีมา  จำนวน 120 ราย เก็บข้อมูลโดยใช้แบบสอบถามข้อมูลส่วนบุคคล แบบสอบถามการสนับสนุนจากพยาบาล แบบสอบถามการสนับสนุนจากสามี และแบบสอบถามความเศร้าโศกในมารดาที่สูญเสียทารกในครรภ์  วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้สัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์ของเพียร์สันและค่าสหสัมพันธ์สเปียร์แมน

ผลการศึกษาพบว่า อายุครรภ์มีความสัมพันธ์ทางบวกกับความเศร้าโศกในมารดาที่สูญเสียทารกในครรภ์ อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (r = .229, p < .05)  ส่วนอายุ ความตั้งใจในการตั้งครรภ์ ประวัติการสูญเสียทารกในครรภ์ จำนวนบุตรมีชีวิต การสนับสนุนจากพยาบาลและการสนับสนุนจากสามี มีความสัมพันธ์กับความเศร้าโศกในมารดาที่สูญเสียทารกในครรภ์อย่างไม่มีนัยสำคัญทางสถิติ (p > .05) อย่างไรก็ตามเมื่อพิจารณาการสนับสนุนจากพยาบาลรายด้าน พบว่า การสนับสนุนจากพยาบาลด้านอารมณ์และด้านการประเมินเปรียบเทียบ มีความสัมพันธ์กับความเศร้าโศกในมารดาที่สูญเสียทารกในครรภ์อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p<0.05 และ p< 0.01 ตามลำดับ) ผลการวิจัยครั้งนี้ ผู้วิจัยมีข้อเสนอแนะว่า พยาบาลควรประเมินความเศร้าโศกของมารดาและเน้นการดูแลด้านอารมณ์ของมารดา โดยเฉพาะมารดาที่มีอายุครรภ์มาก ในช่วง 1-3 วันแรกภายหลังการสูญเสียทารกในครรภ์ เพื่อให้มารดาสามารถปรับตัวและเผชิญกับความเศร้าโศกจากการสูญเสียทารกได้

 

Downloads