ความพึงพอใจของผู้ป่วยโรคมะเร็งท่อน้ำดีต่อการพยาบาลที่ได้รับในหอผู้ป่วยศัลยกรรม โรงพยาบาลศรีนครินทร์
คำสำคัญ:
ความพึงพอใจ ความคาดหวังของผู้ป่วย ผู้ป่วยโรคมะเร็งท่อทางเดินน้ำดีบทคัดย่อ
การศึกษานี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาความพึงพอใจของผู้ป่วยโรคมะเร็งท่อทางเดินน้ำดี ต่อการพยาบาลที่ได้รับในหอผู้ป่วยศัลยกรรม โรงพยาบาลศรีนครินทร์ เก็บรวบรวมข้อมูลในช่วงระหว่างเดือนกันยายน 2555 ถึง เดือนพฤษภาคม 2556 กลุ่มตัวอย่างได้จากการคัดเลือกแบบเฉพาะเจาะจง จำนวน 95 ราย เครื่องมือในการเก็บรวบรวมข้อมูลประกอบด้วย 1) แบบสำรวจข้อมูลส่วนบุคคลของกลุ่มตัวอย่าง 2) แบบวัดความพึงพอใจของผู้ป่วยต่อการพยาบาลที่ได้รับ ของลาโมนิกา และคณะ ฉบับที่ได้รับการแปลเป็นภาษาไทย ซึ่งมีคำถามทั้งหมด 41 ข้อ เนื้อหาของคำถามเกี่ยวข้องกับองค์ประกอบด้านความพึงพอใจต่อการพยาบาลที่ได้รับ 3 ด้าน ได้แก่ 1) ด้านที่ทำให้เกิดความรู้สึกไม่พึงพอใจ 2) ด้านการสนับสนุนระหว่างบุคคล 3) ด้านที่ทำให้เกิดความรู้สึกไม่พอใจ ข้อมูลที่ได้นำมาวิเคราะห์โดยใช้สถิติเชิงพรรณนา
ผลการศึกษา พบว่าผู้ป่วยร้อยละ 82.1 มีความพึงพอใจต่อการพยาบาลที่ได้รับในภาพรวม อยู่ในระดับสูง โดยร้อยละ 88.4 มีความพึงพอใจต่อการพยาบาลด้านการสนับสนุนระหว่างบุคคลอยู่ในระดับสูง และ ร้อยละ 96.8 มีความพึงพอใจต่อการพยาบาลด้านความประทับใจที่ดี ทั้งนี้ ผู้ป่วยร้อยละ 22.1 แสดงความเห็นว่า พยาบาลควรมีความละเอียดรอบคอบมากกว่านี้ และมีผู้ป่วย ร้อยละ 5.3 แสดงความเห็นว่า พยาบาลทำให้ตนรู้สึกว่าตนเป็นเพียงคนไข้ที่น่าสนใจศึกษาเท่านั้น ไม่ใช่เป็นบุคคลที่มีความรู้สึกนึกคิด และผู้ป่วยร้อยละ 2.1 แสดงความเห็นว่า พยาบาลไม่ดูแลเอาใจใส่เท่าที่ควร ผลการศึกษาครั้งนี้สามารถใช้เป็นตัวชี้วัดการประกันคุณภาพการพยาบาลในหอผู้ป่วยศัลยกรรม และสามารถนำข้อเสนอแนะที่ได้รับไปพัฒนารูปแบบการบริการให้ได้คุณภาพตามความคาดหวังของผู้ป่วย เพื่อส่งเสริมความพึงพอใจในระดับสูงทุกด้าน