ผลของการใช้แนวปฏิบัติการพยาบาลเพื่อป้องกันแผลกดทับในทารกแรกเกิดที่ใช้เครื่องช่วยหายใจ
คำสำคัญ:
แนวปฏิบัติการพยาบาลเพื่อป้องกันแผลกดทับ แผลกดทับบทคัดย่อ
การศึกษาครั้งนี้เป็นการวิจัยกึ่งทดลองเพื่อศึกษาผลของการใช้แนวปฏิบัติการพยาบาลเพื่อป้องกันแผลกดทับในทารกที่ใช้เครื่องช่วยหายใจ โดยใช้รูปแบบการวิจัยกึ่งทดลองแบบกลุ่มเดียว กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการศึกษาคือ ผู้ป่วยทารกแรกเกิดที่ใช้เครื่องช่วยหายใจ ที่มารับการรักษาที่หอผู้ป่วยทารกแรกเกิดระยะวิกฤต โรงพยาบาลศรีนครินทร์ จำนวน 53 คน เลือกกลุ่มตัวอย่างแบบเจาะจง เก็บรวบรวมข้อมูลระหว่างเดือนตุลาคม 2554 ถึงเดือนมีนาคม 2555 เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยผู้วิจัยใช้แบบประเมินความเสี่ยงต่อการเกิดแผลกดทับในทารกแรกเกิด (NSRAS) และประยุกต์แนวปฏิบัติการพยาบาลเพื่อป้องกันและดูแลแผลกดทับของ NSRASซึ่งประกอบด้วย การประเมินความเสี่ยงต่อการเกิดแผลกดทับ ประเมินแผลกดทับ การดูแลและป้องกันแผลกดทับ และการส่งต่อข้อมูลแผลกดทับ เตรียมผู้ปฏิบัติโดยประชุมชี้แจงให้ทราบ ขอความร่วมมือ และให้ประเมินความเหมาะสมในการนำมาใช้ของแนวปฏิบัติ ผู้วิจัยใช้แนวปฏิบัติการพยาบาลเพื่อป้องกันการเกิดแผลกดทับในทารกแรกเกิดที่ใช้เครื่องช่วยหายใจ จนกระทั่งผู้ป่วยถอดท่อช่วยหายใจได้ วิเคราะห์ข้อมูล ข้อมูลส่วนบุคคล ด้วยการแจกแจงความถี่ และร้อยละ วิเคราะห์อัตราการเกิดแผลกดทับโดยใช้ อัตราการเกิดต่อ1000วันนอน ผลการวิจัย พบว่าอัตราการเกิดแผลกดทับลดลงเป็น 0 ต่อ 1000 วันนอน
ข้อเสนอแนะ ควรมีการพัฒนาหลักฐานเชิงประจักษ์เพื่อพัฒนาแนวทางการป้องกันและวิธีการดูแลผู้ป่วยทารกแรกเกิดที่มีภาวะเสี่ยงและปัจจัยส่งเสริมต่อการเกิดแผลกดทับ