ปัจจัยที่มีความสัมพันธ์กับพฤติกรรมสุขภาพผู้ติดเชื้อเอชไอวี/ผู้ป่วยเอดส์ที่รับยาต้านไวรัสเอชไอวี ณ โรงพยาบาลแห่งหนึ่งในเขตชายแดนไทย-ลาว
คำสำคัญ:
พฤติกรรมสุขภาพ ผู้ติดเชื้อเอชไอวี/ผู้ป่วยเอดส์ ยาต้านไวรัสเอชไอวี ชายแดนไทย-ลาวบทคัดย่อ
การวิจัยเชิงบรรยายนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาพฤติกรรมสุขภาพและปัจจัยที่มีความสัมพันธ์กับพฤติกรรมสุขภาพของผู้ติดเชื้อเอชไอวี/ผู้ป่วยเอดส์ที่รับยาต้านไวรัสเอชไอวี โดยใช้กรอบแนวคิดการส่งเสริมสุขภาพของเพนเดอร์ กลุ่มตัวอย่างเป็นผู้ติดเชื้อเอชไอวี/ผู้ป่วยเอดส์ที่รับยาต้านไวรัสเอชไอวี 6 เดือนขึ้นไป จำนวน 120 คน เครื่องมือคือแบบสอบถามพฤติกรรมสุขภาพของผู้ป่วยเอดส์ที่ได้รับยาต้านไวรัสเอดส์ ค่าความเชื่อมั่นสัมประสิทธิ์แอลฟารคอนบาค เท่ากับ 0.86 วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้สถิติเชิงพรรณนา ทดสอบความสัมพันธ์ระหว่างปัจจัยที่ศึกษากับพฤติกรรมสุขภาพ โดยใช้ค่าสหสัมพันธ์พอยท์ไบซีเรียล และค่าสัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์ของเพียร์สัน
ผลการวิจัยพบว่า 1) ระดับพฤติกรรมสุขภาพโดยรวมของกลุ่มตัวอย่างอยู่ในระดับดี (=3.19, S.D.=0.26) 2) ระดับพฤติกรรมสุขภาพรายด้านของกลุ่มตัวอย่างอยู่ในระดับดีทั้ง 6 ด้าน เรียงตามลำดับ ได้แก่ พฤติกรรมสุขภาพด้านความรับผิดชอบต่อภาวะสุขภาพขณะได้รับยาต้านไวรัสเอชไอวี ( = 3.49, S.D. = 0.26) พฤติกรรมสุขภาพด้านการพัฒนาจิตวิญญาณ ( = 3.39, S.D. = 0.40) พฤติกรรมสุขภาพด้านโภชนาการ ( = 3.24, S.D. = 0.42) พฤติกรรมสุขภาพด้านการจัดการกับความเครียด ( = 3.22, S.D. = 0.62) พฤติกรรมสุขภาพด้านการมีสัมพันธภาพระหว่างบุคคล ( = 2.90, S.D. = 0.44) และพฤติกรรมสุขภาพด้านการมีกิจกรรมและการออกกำลังกาย ( = 2.90, S.D. = 0.44) และ 3) ความสัมพันธ์ระหว่างปัจจัยที่ศึกษา ได้แก่ เพศ อายุ สถานภาพสมรส ระดับการศึกษา รายได้เฉลี่ยของครอบครัว ระยะเวลาที่ได้รับยาต้านไวรัสเอชไอวี พบว่า ไม่มีความสัมพันธ์กับพฤติกรรมสุขภาพ (r = 0.09; p = 0.33, r = 0.05, p = 0.95; r = 0.03, p = 0.75; r = -0.02, p=0.83; r = 0.37, p = 0.69 และ r = 0.06, p = 0.49 ตามลำดับ)