การพัฒนาระบบบริการแบบ Fast Track สำหรับผู้ป่วยมะเร็งเต้านม ที่ได้รับยาเคมีบำบัด ในหอผู้ป่วยพิเศษสิรินธร โรงพยาบาลขอนแก่น
คำสำคัญ:
ระบบบริการแบบ Fast Track, ผู้ป่วยมะเร็งเต้านม, ยาเคมีบำบัดบทคัดย่อ
การวิจัยครั้งนี้เป็นการวิจัยและพัฒนา (Research and Development) มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาระบบบริการแบบ Fast Track ของผู้ป่วยมะเร็งเต้านมที่ได้รับยาเคมีบำบัด และศึกษาผลสัมฤทธิ์ในการปฎิบัติงานด้านการรักษาพยาบาลในรูปแบบบริการทางช่องทางด่วน (Fast track) ในหอผู้ป่วยพิเศษสิรินธร โรงพยาบาลขอนแก่น เพื่อนำผลงานวิจัยไปประยุกต์ใช้และขยายผลในผู้ป่วยมะเร็งกลุ่มอื่น ๆ ในโรงพยาบาลขอนแก่น การศึกษาครั้งนี้เป็นการศึกษารูปแบบการบริการแบบ FastTrack ของผู้ป่วยมะเร็งเต้านมที่ได้รับยาเคมีบำบัด ที่มารับบริการและเข้ารับการรักษาเป็นผู้ป่วยในที่หอผู้ป่วยพิเศษสิรินธร โรงพยาบาลขอนแก่น ในช่วงปีงบประมาณ 2554 ถึงปีงบประมาณ 2555 จำนวน 31 ราย1 ในช่วงเดือนตุลาคม พ.ศ.2553 ถึงเมษายน พ.ศ. 2555 เครื่องมือที่ใช้เก็บรวบรวมข้อมูล คือ 1) แบบสอบถามความพึงพอใจของผู้ป่วยและญาติต่อบริการพยาบาล ซึ่งแบ่งการบริการพยาบาลเป็น 4 รายด้าน2 คือ ด้านศิลปะการดูแล ด้านคุณภาพการดูแลทางเทคนิคและสิ่งแวดล้อมทางกายภาพ ด้านความพร้อมในการบริการและความต่อเนื่องในการดูแล และด้านประสิทธิผลหรือผลลัพธ์ของการดูแล 2) แบบสัมภาษณ์การติดตามการดูแลทางสังคมของนักสังคมสงเคราะห์ 3) แนวทางปฏิบัติระบบบริการแบบ Fast Track ซึ่งได้จากการระดมสมองของแพทย์ พยาบาล ตรวจสอบความตรงด้านเนื้อหาโดยผู้ทรงคุณวุฒิจำนวน 5 ท่าน ได้ค่าดัชนีความตรงตามเนื้อหาเท่ากับ .92 วิธีเก็บรวบรวมข้อมูล สัมภาษณ์เจาะลึก (Indepht Interview) และตอบแบบสอบถาม วิเคราะห์ข้อมูลด้วยสถิติเชิงพรรณนา คือ การแจกแจงความถี่ ร้อยละ ค่าเฉลี่ยส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน
การวิจัยพบว่า กลุ่มตัวอย่างมีอายุเฉลี่ย 41-50 ปี (M=49.5) ส่วนใหญ่การศึกษาอยู่ในระดับปริญญาตรี หรือสูงกว่า (ร้อยละ 48.4) อาชีพส่วนใหญ่ได้แก่ ข้าราชการ/รัฐวิสาหกิจ (ร้อยละ 38.7) มีระยะเวลาเฉลี่ยในการพักรักษาในโรงพยาบาล (LOS) เท่ากับ 1 วัน (ร้อยละ 29.0) สำหรับการรับบริการแบบช่องทางด่วน (Fast track) ในผู้ป่วยหรือญาติผู้ป่วยมะเร็งเต้านมที่ได้รับยาเคมีบำบัด ในหอผู้ป่วยพิเศษสิรินธร โรงพยาบาลขอนแก่น พบว่าระยะเวลาการให้บริการเฉลี่ย 5.55 ชั่วโมง ซึ่งเดิมใช้เวลานาน 10.9 ชั่วโมง จะเห็นได้ว่าการพัฒนาระบบบริการแบบ Fast Track สามารถลดระยะเวลาในการเข้ารับบริการได้ ผลสัมฤทธิ์การให้บริการทุกๆ รายด้าน อยู่ในระดับพอใจมากถึงมากที่สุด
ผลการวิจัยนี้แสดงให้เห็นว่าการจัดระบบบริการในระบบช่องทางด่วน (Fast track) บุคลากรสหวิชาชีพเข้าใจแนวคิดบูรณาการ โดยผ่านกระบวนการ และวิธีการ เพื่อให้เกิดการเรียนรู้เป็น Learning by doing เพื่อจะได้ตระหนักว่า ผู้ป่วยมะเร็งมีปัจจัยหลากหลายซับซ้อนที่จะส่งผลต่อสุขภาพกาย สุขภาพจิต การเสริมพลัง (Empower) ของผู้รับบริการ ทั้งในระดับบุคคล ครอบครัว และชุมชน ก็จะเป็นการพัฒนาคน และจะเป็นการพัฒนาระบบบริการที่ยั่งยืน