การพัฒนายุทธศาสตร์การบริการพยาบาลระดับประเทศ พ.ศ. 2556-25560

ผู้แต่ง

  • ชุติกาญจน์ หฤทัย

คำสำคัญ:

การพัฒนายุทธศาสตร์การบริการพยาบาลระดับประเทศ

บทคัดย่อ

การวิจัยนี้เป็นการวิจัยแบบมีส่วนร่วม โดยใช้วิธีการผสมผสานทั้งการสนทนากลุ่มสำหรับข้อมูลเชิงลึก และการสำรวจในภาพกว้าง โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อประเมินผลยุทธศาสตร์การบริการพยาบาลระดับประเทศ พ.ศ. 2551 – 2555 พัฒนายุทธศาสตร์การบริการพยาบาลระดับประเทศ พ.ศ. 2556 – 2560 และประเมินการรับรู้ ความเข้าใจของผู้บริหารทางการพยาบาลและการบูรณาการยุทธศาสตร์การบริการพยาบาลระดับประเทศ  พ.ศ. 2556 – 2560 สู่การปฏิบัติ วิธีดำเนินการวิจัยมี 3 ระยะ คือ ระยะที่ 1 การประเมินผลยุทธศาสตร์การบริการพยาบาลระดับประเทศ พ.ศ. 2551 - 2555 ระยะที่ 2 การพัฒนายุทธศาสตร์การบริการพยาบาลระดับประเทศ พ.ศ.2556 – 2560 ระยะที่ 3 การประเมินการรับรู้ ความเข้าใจของบุคลากรพยาบาลต่อยุทธศาสตร์ และการบูรณาการยุทธศาสตร์สู่การปฏิบัติ วิเคราะห์ข้อมูลโดยการแจกแจงความถี่ ร้อยละค่าเฉลี่ยและส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน

ผลการวิจัยในระยะที่ 1 ผลการประเมินผลยุทธศาสตร์การบริการพยาบาลระดับประเทศ พ.ศ. 2551-2555 พบว่า ยุทธศาสตร์ที่ 1 และยุทธศาสตร์ที่ 2 คือ พัฒนาระบบการบริหารจัดการกำลังคนที่สนับสนุนระบบบริการพยาบาลสู่ความเป็นเลิศ และพัฒนาระบบบริการพยาบาลสู่ความเป็นเลิศเน้นการใช้ความรู้เป็นฐานการตัดสินใจสถานบริการสาธารณสุขระดับโรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไป ส่วนใหญ่มีการนำยุทธศาสตร์ไปปฏิบัติโดยจัดทำแผนงานรองรับอย่างสอดคล้องกัน ร้อยละ 65 ระยะที่ 2 การพัฒนายุทธศาสตร์การบริการพยาบาลระดับประเทศ พ.ศ.2556 – 2560 ยุทธศาสตร์ที่พัฒนาขึ้น ประกอบด้วย 1 วิสัยทัศน์ 5 พันธกิจ 5 วัตถุประสงค์เชิงยุทธศาสตร์ 5 เป้าประสงค์เชิงยุทธศาสตร์ 8 ตัวชี้วัดความสำเร็จ และ 5 ประเด็นยุทธศาสตร์ โดยพบว่า ยุทธศาสตร์ที่ 1 และ 2 เป็นยุทธศาสตร์ที่ต่อยอดจากแผนยุทธศาสตร์ฯ ฉบับปี พ.ศ. 2551-2555 ส่วนยุทธศาสตร์ที่ 3, 4 และ 5 เป็นยุทธศาสตร์ที่กำหนดขึ้นใหม่ เพื่อให้สอดคล้องกับแนวโน้มของปัญหาสุขภาพ นโยบายการพัฒนาเขตบริการสุขภาพของกระทรวงสาธารณสุข และสถานการณ์ของประชาคมอาเซียน  นอกจากนี้ผลจากการประชาพิจารณ์ พบว่า ผู้บริหารทางการพยาบาลส่วนใหญ่ ร้อยละ 88.4 มีความคิดเห็นในระดับมากที่สุดต่อข้อความวิสัยทัศน์ พันธกิจ วัตถุประสงค์เชิงยุทธศาสตร์ เป้าประสงค์เชิงยุทธศาสตร์ ตัวชี้วัดความสำเร็จ และประเด็นยุทธศาสตร์ทุกรายการ และระยะที่ 3  การประเมินการรับรู้ และความเข้าใจของผู้บริหารทางการพยาบาลต่อยุทธศาสตร์ฯ และการบูรณาการยุทธศาสตร์การบริการพยาบาลระดับประเทศ พ.ศ. 2556 – 2560 สู่การปฏิบัติ พบว่า ส่วนใหญ่ร้อยละ 87.4 มีการรับรู้และเห็นด้วยกับทิศทางของยุทธศาสตร์               โดยส่วนใหญ่ร้อยละ 73.1 มีการรับรู้และมีความเข้าใจต่อวิสัยทัศน์ พันธกิจ เป้าหมายหลักยุทธศาสตร์การบริการพยาบาลระดับประเทศฯ                ส่วนการได้รับการถ่ายทอดยุทธศาสตร์กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ร้อยละ 68.4 เคยได้รับทราบ และร้อยละ 46.3 มีการนำยุทธศาสตร์ไปใช้การจัดทำแผนงาน/โครงการในจังหวัดและในองค์กร

 

Downloads