การพัฒนาระบบการดูแลหญิงตั้งครรภ์ในการป้องกันภาวะตกเลือดหลังคลอดในโรงพยาบาลสกลนคร

ผู้แต่ง

  • ณฐนนท์ ศิริมาศ
  • ปิยรัตน์ โสมศรีแพง
  • สุพางค์พรรณ พาดกลาง
  • จีรพร จักษุจินดา

คำสำคัญ:

ระบบการดูแลหญิงตั้งครรภ์ ตกเลือดหลังคลอด

บทคัดย่อ

การวิจัยเชิงปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วมนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาพัฒนาระบบการดูแลหญิงตั้งครรภ์เพื่อป้องกันภาวะตกเลือดหลังคลอดในโรงพยาบาลสกลนคร โดยมีผู้ร่วมศึกษาเป็นพยาบาลวิชาชีพ ที่ปฏิบัติงานในงานฝากครรภ์ 3 คน งานห้องคลอด 12 คนและงานหลังคลอด 11 คน รวมทั้งสิ้น 26 คน ทำการศึกษาตั้งแต่เดือนตุลาคม 2554 - กันยายน 2556 ขั้นตอนการดำเนินการมี 3 ระยะ คือ ระยะที่ 1 การวิเคราะห์สถานการณ์ภาวะตกเลือดหลังคลอดโดยใช้หลักการ 4Ts ระยะที่ 2 การดำเนินการพัฒนา โดยพัฒนาระบบการดูแลหญิงตั้งครรภ์เพื่อป้องกันภาวะตกเลือดหลังคลอดขึ้น คือ 1) พัฒนาแบบประเมินความเสี่ยงและนำมาใช้ในระยะฝากครรภ์ ระยะคลอด และระยะหลังคลอด 2) สร้างแนวปฏิบัติเพื่อป้องกันภาวะตกเลือดหลังคลอด 3) พัฒนาระบบการส่งต่อข้อมูลความเสี่ยงภายในโรงพยาบาลและการดูแลสุขภาพที่บ้าน (Home health care)  4) พัฒนาเกณฑ์การรายงานแพทย์ 5) การพัฒนาระบบการนิเทศ เพื่อสร้างความตระหนักให้แก่พยาบาล 6) พัฒนาระบบพยาบาลพี่เลี้ยงในการกำกับการปฏิบัติงานของพยาบาลใหม่                  7) สร้างเครือข่ายในการดูแลหญิงตั้งครรภ์ในโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลและโรงพยาบาลชุมชน และระยะที่ 3 การประเมินผล วิเคราะห์ข้อมูลเชิงปริมาณ โดยใช้การแจกแจงความถี่ ร้อยละ ข้อมูลเชิงคุณภาพใช้การวิเคราะห์เชิงเนื้อหา

ผลลัพธ์จากการปฏิบัติร่วมของพยาบาลมีการเปลี่ยนแปลง ดังนี้ 1) โรงพยาบาลสกลนครมีระบบการดูแลหญิงตั้งครรภ์ในการป้องกันภาวะตกเลือดหลังคลอดที่ชัดเจนและปฏิบัติในทิศทางเดียวกัน  2) มีเครือข่ายในการดูแลหญิงตั้งครรภ์ในโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล โดยการส่งต่อเพื่อการดูแลต่อเนื่องที่บ้านในเขตอำเภอเมือง ร้อยละ 100 3) พยาบาลมีความพึงพอใจต่อระบบการดูแลที่พัฒนาขึ้น ร้อยละ 85 และนำแนวปฏิบัติมาใช้ ร้อยละ 97.29   4) อัตราการตกเลือดหลังคลอดลดลง จากร้อยละ 3.33 ในปี 2554 เป็นร้อยละ 1.18 ในปี 2556 และไม่พบอุบัติการณ์มารดาตายจากการตกเลือดหลังคลอด

 

Downloads