การพัฒนาแนวปฏิบัติการพยาบาลผู้ป่วยที่มีภาวะติดเชื้อในกระแสเลือดอย่างรุนแรง

ผู้แต่ง

  • วิไลวรรณ เนื่อง ณ สุวรรณ
  • จิราภรณ์ น้อมกุศล
  • รัตนา ทองแจ่ม

คำสำคัญ:

การพัฒนาแนวปฏิบัติการพยาบาล ภาวะติดเชื้อในกระแสเลือดอย่างรุนแรง

บทคัดย่อ

การวิจัยเชิงปฏิบัติการนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาและศึกษาผลลัพธ์การนำแนวปฏิบัติการพยาบาลผู้ป่วยที่มีภาวะติดเชื้อในกระแสเลือดอย่างรุนแรง (Severe sepsis) ไปใช้   กลุ่มตัวอย่างประกอบด้วย ผู้ป่วยที่แพทย์วินิจฉัยว่ามีภาวะติดเชื้อในกระแสเลือดอย่างรุนแรง จำนวน 70 คน และพยาบาลวิชาชีพ จำนวน 105 คน เริ่มจากการวิเคราะห์สถานการณ์การดูแลผู้ป่วยที่มีภาวะติดเชื้อในกระแสเลือดอย่างรุนแรง พบว่า  พยาบาลมีการปฏิบัติที่หลากหลาย  ไม่เป็นแนวทางเดียวกัน ขึ้นกับความรู้ ทักษะและประสบการณ์ ขาดการประสานการดูแลระหว่างแพทย์  พยาบาล  การเชื่อมโยงแผนการดูแลรักษาของแพทย์และพยาบาลยังขาดความสอดคล้อง  การดูแลยังแยกส่วนทำให้ผู้ป่วยได้รับการดูแลล่าช้า  ไม่ครอบคลุม นำสู่การสร้างแนวปฏิบัติการพยาบาล การพัฒนาได้ 1)ได้แนวปฏิบัติการพยาบาลผู้ป่วยที่มีภาวะติดเชื้อในกระแสเลือดอย่างรุนแรงใน 6 ชั่วโมงแรก แบบมีเป้าหมาย (Early Goal-Directed Therapy: EGDT) มี ทั้งหมด 8 แนวทาง 2)ได้รูปแบบการนำแนวปฏิบัติทางการพยาบาลสู่การนำไปใช้จริง โดยกำหนดให้มีผู้จัดการรายกรณี มีหน้าที่ ร่วมกับทีมการพยาบาลในการค้นหา เฝ้าระวังและวางแผนการดูแล พร้อมทั้งนิเทศกำกับกระบวนการทำงาน ติดตามการปฏิบัติตามแนวปฏิบัติทางการพยาบาลและผลการดูแลเพื่อปรับปรุงแนวปฏิบัติ เน้นประสานการดูแลระหว่างทีมการพยาบาลและสหสาขาวิชาชีพ รวมไปถึงการพัฒนาศักยภาพทีมพยาบาล 3)ได้สร้างเครือข่ายการดูแลผู้ป่วยร่วมกับสหสาขาวิชาชีพ โดยการเตรียมทีมสหสาขาวิชาชีพในการวางแผนแนวทางปฏิบัติของแพทย์และพยาบาลให้สอดคล้องกัน ส่วนผลลัพธ์การดูแลผู้ป่วยที่มีภาวะติดเชื้อในกระแสเลือดอย่างรุนแรง เมื่อครบ 24 ชั่วโมง มีการประเมินอวัยวะล้มเหลว โดยใช้คะแนน SOFA พบว่า กลุ่มทดลองมีค่าเฉลี่ยคะแนน SOFA ต่ำกว่ากลุ่มควบคุมอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p < .05)  ส่วนค่าสัดส่วนการพ้นจากภาวะช็อกภายใน 6 ชั่วโมง การดักจับอาการของภาวะติดเชื้อในกระแสเลือดอย่างรุนแรงได้ทันเวลา การได้รับยาปฏิชีวนะภายใน 1 ชั่วโมงหลังการวินิจฉัย และการเสียชีวิต ของกลุ่มทดลองมากกว่ากลุ่มควบคุม อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p < .05) ส่วนการประเมินผลลัพธ์ของผู้ใช้แนวปฏิบัติ พบว่า มีความพึงพอใจระดับสูง เนื่องจากแนวปฏิบัติใช้ได้จริง มีการช่องทางการติดตามประเมินผลชัดเจน ส่งผลดีต่อผู้ป่วย อีกทั้งมีการทำงานร่วมกันกับทีมสหสาขาวิชาชีพไปในทางเดียวกัน

ข้อเสนอแนะ1) ควรมีการศึกษาและขยายผลในการดูแลผู้ป่วยที่มีภาวะติดเชื้อในกระแสเลือดอย่างรุนแรงทั่วทั้งโรงพยาบาล  2) พัฒนาสมรรถนะการดูแลของทีมการพยาบาลในเครือข่ายจังหวัดขอนแก่นและเขตบริการสุขภาพที่ 7 ร่วมไปกับทีมสหสาขาวิชาชีพ เพื่อให้การดูแลผู้ป่วยที่มีภาวะติดเชื้อในกระแสเลือดตั้งแต่เริ่มมีอาการผิดปกติ นำส่งต่อและรักษาเป็นไปอย่างมีคุณภาพ อันจะช่วยลดอัตราการเสียชีวิภาวะแทรกซ้อน และค่ารักษาพยาบาล

Downloads