การบูรณาการภูมิปัญญาไทยในการส่งเสริมความผาสุกทางจิตวิญญาณ
คำสำคัญ:
ภูมิปัญญาไทย ความผาสุกทางจิตวิญญาณบทคัดย่อ
การวิจัยกึ่งทดลองนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาผลของการบูรณาการภูมิปัญญาไทยในการส่งเสริมความผาสุกทางจิตวิญญาณ กลุ่มตัวอย่างเป็นผู้ป่วยหญิงซึ่งรับไว้รักษาในหอผู้ป่วยอายุรกรรมหญิง โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชเดชอุดม จังหวัดอุบลราชธานี จำนวน 32 ราย เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย ประกอบด้วย 2 ส่วน คือเครื่องมือที่ใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูล ได้แก่ แบบสอบถามข้อมูลส่วนบุคคล และแบบวัดความผาสุกทางจิตวิญญาณซึ่งปรับปรุงมาจากแบบประเมินความผาสุกทางจิตวิญญาณของเมตตา มะโนศรี มีค่าความเชื่อมั่นเท่ากับ .96 และแนวคำถามเพื่อสัมภาษณ์กลุ่มตัวอย่าง เครื่องมือที่ใช้ในการดำเนินการวิจัย ได้แก่ บายศรีสู่ขวัญ การตักบาตร การสวดมนต์ก่อนนอน และการนั่งสมาธิ เก็บรวบรวมข้อมูลระหว่างเดือนสิงหาคม – พฤศจิกายน 2555 วิเคราะห์ข้อมูลเชิงปริมาณด้วยโปรแกรมคอมพิวเตอร์สำเร็จรูปโดยใช้สถิติ t -test และวิเคราะห์ข้อมูลเชิงคุณภาพด้วยการวิเคราะห์เนื้อหา ผลการศึกษา กลุ่มตัวอย่างคือผู้ป่วยอายุรกรรมหญิง มีอายุเฉลี่ย 56.4 ปี ระยะเวลาการเจ็บป่วยเฉลี่ย 7.4 เดือน วันนอนในโรงพยาบาลเฉลี่ย 9.1 วัน ศาสนาพุทธ ร้อยละ 100 ผลการทดสอบความแตกต่างระหว่างความผาสุกทางจิตวิญญาณก่อนและหลังการทดลอง พบว่ามีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 และข้อมูลเชิงคุณภาพแสดงให้เห็นว่าการเข้าร่วมกิจกรรมภูมิปัญญาไทยของผู้ป่วย ทำให้รู้สึกสบายใจ มีกำลังใจ ตระหนักในคุณค่าแห่งตน และมีสัมพันธภาพที่ดี