การพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้ป่วยจิตเภทผ่านการดูแลต่อเนื่องจากโรงพยาบาลสู่วิถีชีวิตชุมชน โดยการมีส่วนร่วมภาคีเครือข่ายโรงพยาบาลกาฬสินธุ์

ผู้แต่ง

  • ไพบูลย์ ดลเฉลิมยุทธนา
  • ประนอม วรรณกุล

คำสำคัญ:

คุณภาพชีวิต การดูแลต่อเนื่อง วิถีชีวิต แบบมีส่วนร่วม ผู้ป่วยจิตเภท

บทคัดย่อ

การวิจัยเชิงปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วมนี้มุ่งพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้ป่วยจิตเภทผ่านการดูแลต่อเนื่องจากโรงพยาบาลสู่วิถีชีวิตชุมชน โดยการมีส่วนร่วมระหว่างผู้วิจัยซึ่งเป็นพยาบาลทำหน้าที่เป็นผู้อำนายความสะดวกในการทำงานร่วมกันระหว่างบุคลากรของโรงพยาบาลกาฬสินธุ์ กับภาคีเครือข่ายโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล ในอำเภอเมืองและอำเภอดอนจาน 30 คน  ผู้ดูแลผู้ป่วย 52 คนและผู้ป่วยจิตเภท  16 คน รวม  98 คน ดำเนินการตั้งแต่เดือนมกราคมถึงธันวาคม พ.ศ. 2556 โดยดำเนินการวิจัย 4 ขั้นตอนดังนี้ 1) วิเคราะห์สถานการณ์การดูแลผู้ป่วยจากผลการประเมินระดับคุณภาพชีวิต การสัมภาษณ์เจาะลึก การสนทนากลุ่ม และการสังเกตแบบมีส่วนร่วมโดยใช้เครื่องมือที่ผู้วิจัยพัฒนาขึ้น นำข้อมูลมาวิเคราะห์โดยเปิดเวทีเสวนาและสะท้อนประสบการณ์ พร้อมเปรียบเทียบตัวชี้วัดของกระทรวงสาธารณสุข 2) วางแผนการพัฒนาการดูแลผู้ป่วยโดยนำผลการวิจัยที่เกี่ยวข้องมาผสมผสานภูมิปัญญาท้องถิ่น 3) การปฏิบัติร่วมกันของหน่วยบริการสุขภาพระดับตติยภูมิ ทุติยภูมิ ปฐมภูมิ และภาคประชาชน 4)  การประเมินผลทุกเดือนโดยการประชุมสะท้อนผลการปฏิบัติและปรับปรุงการปฏิบัติมุ่งสู่ผลลัพธ์ คือ  ผู้ป่วยไม่กลับมานอนโรงพยาบาลซ้ำภายใน 28 วัน และมีคุณภาพชีวิตดีขึ้น การวิเคราะห์ข้อมูลเชิงคุณภาพโดยการวิเคราะห์เนื้อหา  ส่วนข้อมูลเชิงปริมาณใช้สถิติเชิงพรรณนา  ได้แก่  การแจกแจงความถี่และร้อยละ

ผลการวิจัย พบว่า 1) สถานการณ์การดูแลผู้ป่วยจิตเภทจากปีที่ผ่านมาพบว่า มีผู้ป่วยกลับมานอนโรงพยาบาลซ้ำภายใน 28 วัน 5 คน และมีพฤติกรรมก้าวร้าวทำร้ายตนเองและผู้อื่นเนื่องจากขาดยาและใช้สารเสพติด 2)  รูปแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตผ่านการดูแลต่อเนื่องจากโรงพยาบาลสู่วิถีชีวิตชุมชน โดยพัฒนาศักยภาพผู้ดูแลในครอบครัวและ อสม. ให้สามารถสนับสนุนการดูแลตนเองของผู้ป่วย การออกแบบระบบการรับยาที่เอื้อให้ชุมชนเข้าถึงง่ายและชุมชนร่วมกำกับการใช้ยาของผู้ป่วย พัฒนาระบบสารสนเทศทางคลินิกเชื่อมโยงจากตติยภูมิถึงชุมชน เอื้อให้เกิดการตัดสินใจร่วมระหว่างชุมชนและบุคลากรสาธารณสุขอย่างทันท่วงที รวมทั้งมีการระดมทุนทางสังคมในชุมชนมาพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้ป่วย ได้แก่ การรักษาแบบพื้นบ้าน การขอรับสวัสดิการจากองค์การปกครองส่วนท้องถิ่น  เมื่อสิ้นสุดการดำเนินงาน 1 ปี มีผู้ป่วยกลับมานอนโรงพยาบาลซ้ำภายใน 28 วัน 3 คน (ร้อยละ18.7) เนื่องจากยังมีกลุ่มเพื่อนใช้สารเสพติด ไม่สามารถเลิกสูบบุหรี่และดื่มสุราได้ และกลุ่มนี้เป็นผู้ที่ยังมีคุณภาพชีวิตอยู่ในระดับไม่ดี เนื่องจากปัญหาว่างงานและต้องพึ่งรายได้จากครอบครัว ผู้ป่วยส่วนใหญ่มีระดับคุณภาพชีวิตปานกลาง 10 คน (ร้อยละ62.6) ระดับดี 3 คน (ร้อยละ18.7) โดยภาพรวมผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตระดับปานกลาง

ข้อเสนอแนะจากการวิจัยครั้งนี้สามารถใช้เป็นรูปแบบในการพัฒนาระบบบริการสุขภาพอย่างต่อเนื่องจากโรงพยาบาลทั่วไปต่อเนื่องถึงชุมชน อย่างไรก็ตามเพื่อส่งเสริมการดูแลผู้ป่วยจิตเภทให้สามารถดำรงชีวิตอยู่ในสังคมได้ต้องพัฒนาระบบสนับสนุนการจัดการดูแลตนเองในการป้องกันสารเสพติด ให้โอกาสในการประกอบอาชีพอย่างปลอดภัย มีแรงจูงใจในการเข้าร่วมกิจกรรมทางสังคมอย่างยั่งยืน

Downloads