การพัฒนารูปแบบการวางแผนจำหน่ายผู้ป่วยโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง

ผู้แต่ง

  • นวลตา โพธิ์สว่าง
  • สุดใจ ศรีสงค์
  • เพชราภรณ์ สุพร

คำสำคัญ:

รูปแบบการวางแผนจำหน่าย, ผู้ป่วยโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง

บทคัดย่อ

การวิจัยเชิงปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วมนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนารูปแบบการวางแผนจำหน่ายผู้ป่วยโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง แผนกอายุรกรรม โรงพยาบาลนครพนม ผู้ร่วมวิจัยได้แก่ ทีมสหสาขาวิชาชีพ จำนวน 8 คน ผู้ป่วยโรคปอดอุดกั้นเรื้อรังจำนวน 25 คน และผู้ดูแลจำนวน 25 คน ขั้นตอนการวิจัย ประกอบด้วย 1) ขั้นเตรียมการเตรียมความพร้อมของผู้วิจัย ศึกษาข้อมูลพื้นฐานของหน่วยงาน ประสานผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง และสร้างสัมพันธภาพกับผู้ร่วมวิจัย 2) ขั้นดำเนินการ ได้แก่ วิเคราะห์ปัญหาสภาพเดิมของการวางแผนจำหน่ายผู้ป่วยโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง วางแผนการจำหน่ายผู้ป่วย ปฏิบัติตามแผน สังเกตและสะท้อนการปฏิบัติ และปรับปรุงแผน 3) ขั้นประเมินผล

ผลการวิจัยพบว่า รูปแบบการวางแผนจำหน่ายผู้ป่วยโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง ประกอบด้วย 3 กลวิธี ได้แก่ 1) แผนการดูแลผู้ป่วยแบบสหสาขาวิชาชีพ 2) รูปแบบการให้ความรู้แก่ผู้ป่วยและผู้ดูแล 3) การส่งต่อเพื่อการดูแลต่อเนื่อง จากการประเมินผลการใช้รูปแบบ พบว่า หลังการใช้รูปแบบการวางแผนจำหน่ายผู้ป่วยและผู้ดูแลมีค่าคะแนนความรู้สูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (t = 16.34, p < .01) ด้านคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยเมื่อติดตามหลังการจำหน่าย 1 เดือน และ 3 เดือน ดีขึ้นอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (t = 3.5, p < .05 และ t = 4.5, p < .01) ตามลำดับ ผู้ป่วยและผู้ดูแลมีความพึงพอใจต่อรูปแบบการวางแผนจำหน่ายอยู่ในระดับมากที่สุด ร้อยละ 98.0 ไม่พบการกลับมารักษาซ้ำภายใน 28 วัน พบมารักษาที่แผนกฉุกเฉิน 1 ราย

จากผลการวิจัยแสดงให้เห็นว่ากระบวนการพัฒนาที่เน้นการมีส่วนร่วมของผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องเป็นปัจจัยแห่งความสำเร็จ และสามารถนำไปสู่การปฏิบัติการวางแผนจำหน่ายผู้ป่วยโรคปอดอุดกั้นเรื้อรังที่มีคุณภาพ

Downloads