พฤติกรรมป้องกันวัณโรค ของผู้ป่วยวัณโรคปอดในจังหวัดศรีสะเกษ ประเทศไทย: แบบจำลองสมการเชิงโครงสร้างของการศึกษาภาคตัดขวาง

ผู้แต่ง

  • นฤมล สิงห์ดง

คำสำคัญ:

วัณโรคปอด, พฤติกรรมป้องกันวัณโรค, ปัจจัยด้านครอบครัว, แบบจำลองสมการเชิงโครงสร้าง

บทคัดย่อ

การวิจัยนี้มีจุดมุ่งหมายเพื่อตรวจสอบความตรงของแบบจำลองสมการเชิงโครงสร้างของปัจจัยที่เชื่อมโยงกับพฤติกรรมการป้องกันวัณโรค ซึ่งครอบคลุมปัจจัยระดับบุคคล ครอบครัว และชุมชน ของผู้ป่วยวัณโรคปอด โดยผสมผสาน Transactional Model of Stress and Coping, Family Adaptation Model และ McMaster Model of Family Functioning เป็นกรอบแนวคิดการวิจัย ข้อมูลที่ใช้ในการศึกษานี้ส่วนใหญ่เก็บรวบรวมข้อมูลด้วยการสัมภาษณ์โดยใช้แบบสอบถาม จากกลุ่มตัวอย่างผู้ใหญ่ที่ป่วยเป็นวัณโรคปอดในเขตชนบท จังหวัดศรีสะเกษ จำนวน 200 คน วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้สถิติเชิงพรรณนา การวิเคราะห์ความสัมพันธ์ของเพียร์สัน และสถิติทดสอบสมมติฐาน ได้แก่ สถิติวิเคราะห์เส้นทางอิทธิพล และสถิติการวิเคราะห์โมเดลสมการโครงสร้าง (Structural Equation Modeling : SEM)

ผลการวิจัยพบว่า แบบจำลองสมการเชิงโครงสร้างของพฤติกรรมการป้องกันวัณโรค มีความตรงเชิงโครงสร้างหรือมีความสอดคล้องกับข้อมูลเชิงประจักษ์ที่รวบรวมจากกลุ่มตัวอย่าง และแสดงให้เห็นว่าระดับของความเครียด/ความต้องการ มีความสัมพันธ์กับการเพิ่มขึ้นของระดับการประเมินความสำคัญของวัณโรค การให้คุณค่าต่อพฤติกรรมการป้องกันวัณโรค และความพยายามในการรับมือกับความเครียดและความต้องการของครอบครัว นอกจากนั้นยังพบว่าการเพิ่มขึ้นของพฤติกรรมการป้องกันวัณโรคมีความสัมพันธ์กับการให้คุณค่าต่อพฤติกรรมการป้องกันวัณโรค และความพยายามของครอบครัวในการรับมือกับความเครียดและความต้องการอันเกิดจากการเจ็บป่วยด้วยวัณโรค ทั้งนี้ตัวแปรระดับบุคคลและระดับครอบครัวร่วมกันอธิบายความแปรปรวนของพฤติกรรมการป้องกันวัณโรคได้ร้อยละ 45.80

ผลการศึกษานี้ จึงชี้แนะให้ทีมสุขภาพส่งเสริมความพยายามหรือความอุตสาหะของครอบครัวในการรับมือกับปัญหา และยกระดับการให้คุณค่าต่อพฤติกรรมการป้องกันวัณโรค เพื่อสนับสนุนให้ผู้ป่วยมีพฤติกรรมการป้องกันวัณโรคที่ดีขึ้น อันจะส่งผลดีต่อการควบคุมวัณโรคต่อไป

Downloads