การพัฒนาแนวทางการดูแลตนเองของผู้ที่มีภาวะหัวใจล้มเหลวในจังหวัดนครนายกในมุมมองของผู้รับบริการและผู้ดูแลต่อความสามารถในการดูแลตนเองและการเข้ารับการรักษาตัวซ้ำในโรงพยาบาล
คำสำคัญ:
ความสามารถในการดูแลตนเอง, ผู้ที่มีภาวะหัวใจล้มเหลว, การเข้ารับการรักษาตัวซ้ำในโรงพยาบาล, การวิจัยเชิงปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วมบทคัดย่อ
การวิจัยเชิงปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วมนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาแนวทางการดูแลตนเองของผู้ที่มีภาวะหัวใจล้มเหลวในจังหวัดนครนายกในมุมมองของผู้รับบริการและผู้ดูแลต่อความสามารถในการดูแลตนเองและการเข้ารับการรักษาตัวซ้ำในโรงพยาบาล ซึ่งการวิจัยนี้เป็นการดำเนินการร่วมกันระหว่างทีมผู้วิจัยและผู้ให้ข้อมูลซึ่งประกอบด้วยผู้ที่มีภาวะหัวใจล้มเหลวจำนวน 30 คน และผู้ดูแลจำนวน 16 คน ซึ่งได้มาจากการเลือกแบบเจาะจงและการบอกต่อ สำหรับการเก็บข้อมูลใช้วิธีการสัมภาษณ์เชิงลึกและการทำกลุ่มสนทนา โดยใช้เครื่องมือที่ผ่านการพิจารณาความเที่ยงและความตรงแล้วในการเก็บข้อมูล ซึ่งประกอบด้วยแบบสัมภาษณ์ความสามารถในการดูแลตนเองของผู้ที่มีภาวะหัวใจล้มเหลวและผู้ดูแล แบบสอบถามข้อมูลส่วนบุคคล และแบบสัมภาษณ์การดูแลตนเองของผู้ที่มีภาวะหัวใจล้มเหลว ในการพัฒนาแนวทางการดูแลตนเองมีการเก็บข้อมูลในการดำเนินงานทั้ง 5 ขั้นตอน ได้แก่ การร่วมศึกษาและวิเคราะห์ปัญหา การร่วมวางแผนและตัดสินใจ การร่วมดําเนินการ การร่วมรับผลประโยชน์ และ การร่วมติดตามประเมินผล โดยการวิเคราะห์ข้อมูลเชิงคุณภาพใช้การวิเคราะห์เนื้อหา และการให้รหัส สำหรับการวิเคราะห์ผลของแนวทางการดูแลตนเองที่พัฒนาขึ้น ใช้สถิติ paired t-test
ผลการศึกษาเมื่อผู้วิจัยได้เข้ามาแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับผู้ให้ข้อมูล พบว่าผู้ให้ข้อมูลมีส่วนร่วมในการตัดสินใจในแนวทางการดูแลตนเองของผู้ที่มีภาวะหัวใจล้มเหลว โดยจากการประเมินผลก่อนและหลังการใช้แนวทางการดูแลตนเองที่ร่วมกันพัฒนาประมาณ 7 เดือน พบว่า คะแนนเฉลี่ยความสามารถในการดูแลตนเองของผู้ที่มีภาวะหัวใจล้มเหลวก่อนดำเนินการวิจัยอยู่ในระดับที่ไม่เหมาะสม ผู้ให้ข้อมูลมีความคิดเห็นร่วมกันว่า กิจกรรมที่ต้องการความช่วยเหลือมากที่สุด คือ การช่วยเหลือในการไปพบแพทย์ และสิ่งสนับสนุนความสามารถในการดูแลตนเองที่ดี คือ ความรักและความเข้าใจจากคนในครอบครัว รวมถึงความเอาใจใส่ กำลังใจ และความเข้าใจจากบุคลากรสาธารณสุข ซึ่งแนวทางการดูแลตนเองของผู้ที่มีภาวะหัวใจล้มเหลวในจังหวัดนครนายกในมุมมองของผู้รับบริการและผู้ดูแล มีลักษณะ “3 พร้อม” ประกอบด้วยความพร้อมด้านความรู้เรื่องโรคและการปฏิบัติตัวที่เหมาะสม ความพร้อมด้านจิตใจ และความพร้อมในการปรับวิถีชีวิตให้เหมาะสมกับโรค ภายหลังการดำเนินตามแนวทางการดูแลตนเองที่พัฒนาขึ้นนี้ พบว่า ผู้ที่มีภาวะหัวใจล้มเหลวมีความสามารถในการดูแลตนเองเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p < .001)
ปัจจัยแห่งความสําเร็จของแนวทางการดูแลตนเองของผู้ที่มีภาวะหัวใจล้มเหลวที่พัฒนาขึ้นในการวิจัยครั้งนี้ คือ การมีส่วนร่วมของผู้ให้ข้อมูลทั้งที่เป็นผู้ดูแลและตัวของผู้ที่มีภาวะหัวใจล้มเหลว ดังนั้นแนวทางการดูแลตนเองของผู้ที่มีภาวะหัวใจล้มเหลวที่พัฒนาขึ้นจึงสามารถนำไปใช้ในการส่งเสริมความสามารถในการดูแลตนเองของผู้ที่มีภาวะหัวใจล้มเหลวเพื่อป้องกันการเข้ารับการรักษาตัวซ้ำในโรงพยาบาลได้