การพัฒนาแนวปฏิบัติในการสนับสนุนการตัดสินใจสำหรับผู้ตัดสินใจแทนเกี่ยวกับการดูแลรักษาผู้สูงอายุที่เจ็บป่วยในระยะสุดท้ายของชีวิตที่เข้ารับรักษาในหอผู้ป่วยอายุรกรรม โรงพยาบาลตติยภูมิแห่งหนึ่ง

ผู้แต่ง

  • จุธาลักษณ์ แก้วมะไฟ
  • สิริมาศ ปิยะวัฒนพงศ์

คำสำคัญ:

แนวปฏิบัติในการสนับสนุนการตัดสินใจ, ผู้ตัดสินใจแทน, การตัดสินใจในระยะสุดท้าย, ผู้สูงอายุ

บทคัดย่อ

การวิจัยนี้ใช้การวิจัยเชิงปฏิบัติการที่อาศัยความร่วมมือทางเทคนิค เพื่อพัฒนาแนวปฏิบัติในการสนับสนุนการตัดสินใจสำหรับผู้ตัดสินใจแทนเกี่ยวกับการดูแลรักษาผู้สูงอายุที่เจ็บป่วยเรื้อรังในระยะสุดท้ายของชีวิต ทำการศึกษาในหอผู้ป่วยอายุรกรรม โรงพยาบาลตติยภูมิแห่งหนึ่งในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ผู้ให้ข้อมูลและผู้ร่วมวิจัย ประกอบด้วย ผู้ตัดสินใจแทนและครอบครัวของผู้สูงอายุที่เจ็บป่วยในระยะสุดท้ายของชีวิต และบุคลากรสุขภาพที่ปฏิบัติงานในหอผู้ป่วยอายุรกรรมที่ศึกษา เก็บรวบรวมข้อมูลโดยวิธีการสัมภาษณ์ การสังเกต การสนทนากลุ่ม บันทึกภาคสนาม ระยะเวลาที่ทำการศึกษา ระหว่างเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2555 ถึงเดือนเมษายน พ.ศ. 2556

ผลการศึกษาการวิเคราะห์สถานการณ์การตัดสินใจเกี่ยวกับการดูแลรักษาผู้สูงอายุที่เจ็บป่วยในระยะสุดท้ายของชีวิต พบว่า ผู้ตัดสินใจแทนต้องการความช่วยเหลือจากบุคลากรสุขภาพในการให้ข้อมูลเกี่ยวกับการเจ็บป่วยและการดูแลรักษาในระยะสุดท้ายและการให้คำปรึกษาอย่างต่อเนื่องตลอดกระบวนการตัดสินใจ และต้องการให้ครอบครัวมีส่วนร่วมในการตัดสินใจ ในส่วนของบุคลากรสุขภาพมีความต้องการพัฒนาแนวปฏิบัติในการสนับสนุนการตัดสินใจ ประกอบด้วย การพัฒนาเกณฑ์การคัดกรองผู้สูงอายุที่เจ็บป่วยระยะสุดท้าย กระบวนการประสานความร่วมมือของบุคลากรสุขภาพในการสนับสนุนการตัดสินใจ แนวทางสนับสนุนการตัดสินใจ แบบบันทึกและแบบประเมินที่เอื้อต่อการดูแลและการสื่อสารในทีมสุขภาพ สื่อเพื่อสนับสนุนการตัดสินใจ ความรู้และทักษะของพยาบาลสำหรับการสนับสนุนการตัดสินใจ

กระบวนการพัฒนาประกอบด้วย 4 ระยะ คือ 1) การวิเคราะห์สถานการณ์ของการตัดสินใจร่วมกับการทบทวน        วรรณกรรม เพื่อจัดทำ (ร่าง) แนวปฏิบัติในการสนับสนุนการตัดสินใจ 2) การวางแผนนำแนวปฏิบัติสู่การปฏิบัติ 3) การปฏิบัติและสังเกตการนำแนวปฏิบัติการสนับสนุนการตัดสินใจสู่การทดลองใช้ และ 4) การสะท้อนคิดและประเมินผลของการนำแนวปฏิบัติการสนับสนุนการตัดสินใจไปใช้ ผลจากการพัฒนาได้แนวปฏิบัติในการสนับสนุนการตัดสินใจสำหรับผู้ตัดสินใจแทนเกี่ยวกับการดูแลรักษาผู้สูงอายุที่เจ็บป่วยในระยะสุดท้ายของชีวิต ประกอบด้วย การคัดกรองผู้สูงอายุระยะสุดท้ายและประเมินความต้องการของผู้ตัดสินใจแทน การระบุผู้ตัดสินใจแทน การให้ข้อมูลการเจ็บป่วยและอภิปรายเกี่ยวกับการรักษาในระยะสุดท้าย การระบุเรื่องที่ต้องตัดสินใจ การค้นหาปัญหาความต้องการของผู้ตัดสินใจแทน การระบุปัญหาความต้องการ วางแผนแก้ไขบนพื้นฐานของปัญหา การประเมินผลลัพธ์ในการตัดสินใจและบันทึกผลการตัดสินใจ การทบทวนการตัดสินใจเป็นระยะ และให้ความมั่นใจหลังตัดสินใจไปแล้ว ที่ช่วยให้ผู้ตัดสินใจแทนมีความเข้าใจข้อมูลภาวะเจ็บป่วย มีการตัดสินใจโดยคำนึงถึงการให้คุณค่าในความต้องการของผู้สูงอายุ มีความมั่นใจในการตัดสินใจและรับรู้ว่า ได้รับการสนับสนุนในการตัดสินใจ ในส่วนของบุคลากรสุขภาพ พบว่า มีความพึงพอใจและมีการรับรู้ถึงประโยชน์ของการใช้แนวปฏิบัติในการสนับสนุนการตัดสินใจ  พยาบาลส่วนใหญ่มีความคิดเห็นว่ามีความเป็นไปได้ในการปฏิบัติจริง ใช้ง่ายไม่ยุ่งยากซับซ้อน เกิดประโยชน์ต่อผู้ตัดสินใจแทน

Downloads