การพัฒนาแนวทางการดูแลช่วยเหลือผู้ป่วยจิตเวชที่ถูกล่ามขัง ในเขตสาธารณสุขที่ 13 ประเทศไทย

ผู้แต่ง

  • เทพินทร์ บุญกระจ่าง
  • ธีราภา ธานี
  • พัสนี สิทธิคุณ

คำสำคัญ:

ผู้ป่วยจิตเวชที่ถูกล่ามขัง แนวทางการดูแลช่วยเหลือ

บทคัดย่อ

การวิจัยเชิงปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วมนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาแนวทางการดูแลช่วยเหลือผู้ป่วยจิตเวชที่ถูกล่ามขัง  ในเขตสาธารณสุขที่ 13  ได้แก่ จังหวัดอุบลราชธานี ศรีสะเกษ ยโสธร และอำนาจเจริญ ผู้ร่วมวิจัยประกอบด้วย บุคลากรสาธารณสุข   จำนวน 36  คน  แกนนำชุมชนและประชาชน จำนวน 72 คนญาติหรือผู้ดูแลหลักผู้ป่วยจิตเวชที่ถูกล่ามขัง จำนวน 21 คน และผู้ป่วยจิตเวชที่ถูกล่ามขัง จำนวน 21 รวมทั้งสิ้น 150 คน เก็บรวบรวมข้อมูลด้วยวิธีการเชิงปริมาณและเชิงคุณภาพ วิเคราะห์ข้อมูลเชิงปริมาณด้วยสถิติเชิงพรรณนา การแจกแจงความถี่ ค่าเฉลี่ยและร้อยละ วิเคราะห์ข้อมูลเชิงคุณภาพโดยการวิเคราะห์เนื้อหา

ผลการวิจัยพบว่า  การพัฒนาแนวทางการดูแลช่วยเหลือผู้ป่วยจิตเวชที่ถูกล่ามขัง มีกระบวนการในดำเนินงาน 5 ขั้นตอน คือ  1)  ขั้นศึกษาบริบทของปัญหาในพื้นที่   2)  ขั้นกำหนดปัญหา/ความต้องการของผู้ที่เกี่ยวข้อง  3) ขั้นวางแผนการปฏิบัติงานวิจัย 4)  ขั้นการปฏิบัติ ติดตาม ตรวจสอบ และปรับปรุง  และ 5)  ขั้นสรุปผลการวิจัย  ผ่านกระบวนการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกขั้นตอน  และนำวิธีการดูแลช่วยเหลือผู้ป่วยจิตเวชที่ถูกล่ามขังจากกระบวนการ มาสังเคราะห์ได้แนวทางการดูแลช่วยเหลือผู้ป่วยจิตเวชที่ถูกล่ามขัง คือ “3 ขั้นบันได 10 กิจกรรม” ประกอบด้วย บันไดขั้น 1 รักษาระงับอาการอันตรายให้เร็วที่สุด มี 4 กิจกรรม คือ 1) ค้นหาผู้ป่วยที่ถูกล่ามขังในพื้นที่ 2) ประเมินอาการและวิเคราะห์ต้นเหตุของการล่ามขัง 3) วางแผนการบำบัดรักษาและแก้ไขปัญหาทั้งระยะสั้นและยาว  และ4) บำบัดรักษาโรคและอาการผู้ป่วย  บันไดขั้น 2 สร้างความเชื่อมั่น ปรับเจตคติและสร้างการมีส่วนร่วมของญาติและชุมชน มี  3  กิจกรรม คือ  1) สุขภาพจิตศึกษาแก่ญาติและผู้ใกล้ชิด 2) ประชุมร่วมกับผู้นำชุมชนเพื่อสร้างความเชื่อมั่นในการรักษาโรค และ 3) ติดตามเยี่ยมผู้ป่วยและญาติในชุมชนอย่างต่อเนื่องสม่ำเสมอ   บันไดขั้น 3 สร้างอาชีพและการสนับสนุนจากชุมชนและสังคม  มี  3  กิจกรรม คือ  1)  การประชุมร่วมกับญาติและชุมชนพิจารณาอาชีพและการดำรงชีวิตในชุมชน 2)  ฝึกอาชีพแก่ผู้ป่วย และ 3) แสวงหาแหล่งสนับสนุนทั้งในและนอกชุมชน   ซึ่งจากการประเมินผล 6 เดือนหลังใช้แนวทางการดูแลช่วยเหลือผู้ป่วย  พบว่า ผู้ป่วยจิตเวชสามารถปลดโซ่หรือกักขังได้ตลอด  24 ชั่วโมง ร้อยละ 100  และส่วนใหญ่มีความสามารถในทักษะด้านต่างๆดีขึ้น โดยเฉพาะทักษะชีวิตของแต่ละบุคคล ผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง ส่วนใหญ่มีระดับความพึงพอใจต่อการเข้ามีส่วนร่วมในการพัฒนาแนวทางการดูแลช่วยเหลือผู้ป่วยจิตเวชที่ถูกล่ามขังโดยภาพรวมอยู่ในระดับมากถึงมากที่สุด ร้อยละ 96.8   แกนนำชุมชนมีทัศนคติในเชิงบวกต่อผู้ป่วยจิตเวชเพิ่มขึ้น  และจากการประเมินภาระญาติของผู้ป่วยจิตเวช พบว่า ญาติมีวิธีการผ่อนคลายความเครียดได้ดีขึ้น มีความขัดแย้งในตนเองต่อการดูแลผู้ป่วยและความรู้สึกผิดลดลง จากผลการวิจัยครั้งนี้จะเห็นได้ว่า มีการพัฒนาศักยภาพของเครือข่ายในชุมชน  เกิดการมีส่วนร่วมและความร่วมมือของบุคลากร ชุมชนและญาติในพื้นที่ สร้างเครือข่ายการทำงานเพื่อดูแลช่วยเหลือผู้ป่วยจิตเวชที่ถูกล่ามขังให้ได้รับการรักษาและถูกปลดปล่อยจากการล่ามขังได้

Downloads