ประสิทธิผลของโปรแกรมการฝึกอบรมอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน ในการดูแลผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองในชุมชนด้วยการจัดการเรียนรู้โดยใช้บริบทเป็นฐาน

ผู้แต่ง

  • ภูดิท เตชาติวัฒน์
  • นิทรา กิจธีระวุฒิวงษ์

คำสำคัญ:

ประสิทธิผล อาสาสามัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน ผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง การจัดการเรียน การสอนโดยใช้บริบทเป็นฐาน

บทคัดย่อ

มีหลักฐานเชิงประจักษ์ที่แสดงให้เห็นว่าการปฏิบัติงานของอาสาสมัครสาธารณสุข (อสม.) มีประสิทธิผล
ในการดูแลผู้ป่วยโรคเรื้อรัง การศึกษานี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาประสิทธิผลของโปรแกรมการอบรม อสม.
ในการดูแลผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองในชุมชนด้วยการจัดการเรียนรู้โดยใช้บริบทเป็นฐาน

การวิจัยนี้เป็นการวิจัยกึ่งทดลอง แบบกลุ่มเดียววัดก่อนและหลังการทดลอง กลุ่มตัวอย่าง คือ อสม.
ที่ขึ้นทะเบียน อำเภอพรหมพิราม จังหวัดพิษณุโลก จำนวน 38 คน เข้าร่วมโปรแกรมอบรมฯ เป็นเวลา 10 สัปดาห์ ประกอบด้วย 1) การเรียนโดยใช้โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลเป็นฐาน 2) การเรียนโดยใช้ชุมชนเป็นฐาน
(การเยี่ยมบ้าน) 3) การอภิปรายกรณีศึกษา และ 4) การให้คำปรึกษาจากเจ้าหน้าที่สาธารณสุขแก่ อสม. เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูล ได้แก่  แบบสอบถาม ประกอบด้วย ข้อมูลทั่วไป ข้อคำถามเกี่ยวกับความรู้ การปฏิบัติใน
การเยี่ยมบ้าน และความพึงพอใจของ อสม. ในการปฏิบัติงาน ซึ่งผ่านการทดสอบความตรงและความเชื่อมั่น
ทำการเก็บข้อมูลและวิเคราะห์ข้อมูลเกี่ยวกับความรู้ และการปฏิบัติในการเยี่ยมบ้าน ก่อนและหลังเข้าร่วมโปรแกรมอบรมฯ ส่วนข้อมูลความพึงพอใจ เก็บข้อมูลและวิเคราะห์หลังเข้าร่วมโปรแกรม การวิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้ ความถี่ ร้อยละ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน และการทดสอบ pair t-test

ผลการวิจัย พบว่า ระดับความรู้และระดับการปฏิบัติการเยี่ยมบ้านของ อสม. หลังเข้าร่วมโปรแกรม
การเรียนรู้โดยใช้บริบทเป็นฐาน ดีกว่าก่อนเข้าโปรแกรมอบรม ฯ อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (t=6.73, p < 0.001; t=6.79, p < 0.001) และ อสม. ส่วนใหญ่ ร้อยละ 47.4 มีความพึงพอใจในระดับสูง (Mean = 11.42, SD. = 4.12) ภายหลัง
การเข้าร่วมโปรแกรมการอบรมฯ

การศึกษานี้แสดงให้เห็นว่าโปรแกรมการเรียนรู้โดยใช้บริบทเป็นฐานสามารถนำไปใช้ในการสร้างศักยภาพ อสม. ได้อย่างมีประสิทธิผล โดยโปรแกรมฯ นี้สนับสนุนการเสริมสร้างศักยภาพให้ อสม. เป็นส่วนหนึ่งของทีมงาน
ที่ดูแลสุขภาพ

Downloads